ยางนา..ประโยชน์ที่มีมากกว่าตาเห็น

ต้นยางนา จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่

ต้นยางนา มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ โคนต้นมักเป็นพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลม ๆ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ ส่วนตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (เด็ดปีกออกก่อนนำไปเพาะ เมล็ดจะงอกภายในเวลา 12 วัน และภายในเวลา 7 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงได้ประมาณ 30-35 เซนติเมตร และพร้อมที่จะย้ายไปปลูกได้) เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบดินที่มีอินทรียวัตถุค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน (หลังต้นอายุ 1 ปี) มักขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ตามที่ต่ำชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-400 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย

ใบยางนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบสอบทู่ โคนใบกว้าง ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร เนื้อใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน แผ่นใบมีขนขึ้นปกคลุม ด้านท้องใบมีขนสั้น ๆ รูปดาว ใบอ่อนมีขนสีเทา ส่วนใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปราย และมีหูใบขนาดใหญ่

ดอกยางนา ออกดอกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ แบบช่อกระจะ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง ดอกมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร เป็นสีชมพูอ่อน มีช่อละ 4-5 ดอก ดอกขนาดใหญ่เรียงตัวหลวม ๆ เป็นช่อห้อยลงถึง 12 เซนติเมตร ที่ก้านช่อมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมนและบิดเวียน โคนกลีบดอกชิดกัน ชั้นกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก แบ่งเป็นแฉกสั้น 3 แฉก และแฉกยาว 2 แฉก มีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้มากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์ลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียอ้วนและมีร่อง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

ผลยางนา ผลเป็นแผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีหลอดกลีบเลี้ยงหุ้มขนมิด ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร มีปีกขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง 2 อัน มีสีแดงอมชมพู ขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-15 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาล เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น ปักสั้น 3 ปีก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลางผลมีครีบตามยาว 5 ครีบ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.8 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนสั้นนุ่ม ที่ปลายมีติ่งแหลม ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

น้ำมันยางนา น้ำมันยางเป็นของเหลวข้น มีกลิ่นเฉพาะ เป็นน้ำยางที่ได้จากการเจาะโพรงเข้าไปในต้นยางนาแล้วเอาไฟลน น้ำยางจะไหลลงมาขังในแอ่งที่เจาะไว้ ซึ่งน้ำมันยางที่ได้จะเรียกว่า “Gurjun Balsam” หรือ “Gurjun oil” เมื่อนำไปกลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 70 มีองค์ประกอบเป็น alpha-gurjuneneและ β-gurjunene

สรรพคุณของยางนา

  • เปลือกนำไปต้มน้ำเป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักแสบ และใช้ทาถูนวดขณะร้อนๆแก้ปวดตาข้อ
  • น้ำมันยางใช้ผสมกบเมล็ดกุยช่าย นำมาคั่วให้เกรียม บดละเอียดใช้เป็นยาอุดฟันแก้ฟันผุ
  • เมล็ดและใบ นำมาต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน
  • ใช้น้ำมันยาง1ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน2ส่วน นำมารับประทาน เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี
  • ใบยางใช้รับประทานเป็นยาขับเลือด (ทำให้เป็นหมัน)
  • น้ำมันยางดิบ ใช้เป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ
  • น้ำมันยางจากต้น ใช้สมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อย แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน

เวชสำอาง/เวชภัณฑ์ จากยางนา
สารสกัดจากเปลือกยางนามีคุณสมบัติที่สำคัญเฉพาะในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ มีสารออกฤทธิ์ที่มีฤทธิ์เวชสำอางที่หลากหลาย และยังคงสามารถยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลามีน กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ต้านการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกันให้ผิวสุขภาพดี สามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงช่วยให้ผิวไม่มีริ้วรอยและกระจ่างใสขึ้น ซึ่งใช้เพียงหลอดเดียวสามารถเป็นทั้งครีมบำรุง กันแสงแดด และฟื้นฟูผิวพรรณอย่างครอบคลุมทุกสภาพผิว
ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ทีมวิจัยจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิยาลัยขอนแก่น จึงได้สกัดสารจากพันธุ์ไม้ธรรมชาติอย่าง ยางนา มาทำเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ได้จริง
ผศ.ดร.แคทรียา สุทธานุช ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชสำอาง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็บอกว่า เครื่องสำอาง YANGNA ที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ สวยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทีมนักวิจัยได้ค้นพบว่า ต้นยางนานั้น เฉพาะส่วนของเปลือกมีฤทธิ์เชิงเวชสำอาง ทั้งยังคงเสริมสุขภาพผิว โดยในเปลือกยางนาสามารถนำมาสกัดสารเรสเวอราทรอล ซึ่งเป็นสารสำคัญตัวเดียวกันกับที่ใช้ในเครื่องสำอางแบรนด์ดังชั้นนำ และยังคงออกฤทธิ์องค์รวมครอบคลุมดูแลสุขภาพของผิว

ประโยชน์ของยางนา

  • น้ำมันยางจากต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงเพื่อใช้ผสมชันไม้อื่นๆ ใช้ยาเครื่องจักรสานกันน้ำรั่ว ยาแนวเรืออุดรอยรั่ว ทาไม้ ใช้ผสมขี้เลื่อยจุดไฟ ใช้ทำน้ำมันชักเงา ฯลฯ
  • ไม้ยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ เปลาตรง สูง และไม่ค่อยมีกิ่งก้าน การตัดไม้ยางนามาใช้จึงได้เนื้อไม้มาก โดยเนื้อไม้ที่ได้จะมีความแข็งปานกลาง สามารถนำมาเลื่อยไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากไม้ยางนากันมาตั้งแต่อดีต โดยนิยมนำมาเลื่อยทำเสาบ้าน รอด ตง ไม้พื้น ไม้ระแนง ไม้คร่าว โครงหลังคา ฝ้าเพดาน เครื่องเรือนต่าง ๆ ทำรั้วบ้าน ทำเรือขุด เรือขนาดย่อม แจว พาย กรรเชียง รวมไปถึงตัวถังเกวียน ถังไม้ หมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ
  • ไม้ยางนาจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซาส์ (Micorrhyzas) ซึ่งเป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโต โดยเชื้อราเหล่านี้จะสร้างดอกเห็ดเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของทุกปีจะมีดอกเห็ดหลายชนิดให้หาเก็บมารับประทานได้มากมาย เช่น เห็ดชะโงกเหลือง เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดยาง เป็นต้น
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสองฝั่งถนน เพื่อความสวยงาม และปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านนิเวศ ให้ร่มเงา กำบังลม ให้ความชุ่มชื้น ควบคุมอุณหภูมิในอากาศ ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ
  • น้ำมันต้นยางนา ณ ปัจจุบันได้ถูกนำมาพัฒนาทำไบโอดีเซลอีกด้วย

เรื่องโดย : ธนาวัน เพลินทรัพย์ เจ้าหน้าที่เทคนิค ทีมหมอต้นไม้