คืนชีวิตให้ต้นยางนา และถนนสายประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่

เอิ้นเน้อ ชวนสำรวจทิวต้นยางนาริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ถนนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนสายที่งดงามที่สุดสายหนึ่งของประเทศ

เริ่มต้นจากเส้นทางสายประวัติศาสตร์ สู่ถนนแห่งการค้าระหว่างเมือง และต้นไม้หมายเมืองกำหนดเขตแดนแห่งอำเภอสารภี กระนั้นคุณค่าดังกล่าวก็อาจไม่เพียงพอให้ผู้คนสนใจจะดูแลต้นไม้เหล่านี้อย่างจริงจัง

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงถนน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ส่งผลให้ต้นยางนาจำนวนมากถูกโค่นทำลายลง แทนที่ด้วยผิวถนน ทางเท้า อาคารพาณิชย์ โครงการบ้านจัดสรร ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้นแรงสนับสนุนในการตัดตอนต้นไม้ ส่วนหนึ่งยังมาจากชาวบ้านที่วิตกกังวลในเรื่องของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากต้นยางนาเสียเอง…

“จากที่ผมมีโอกาสได้เห็นมาหลายที่ บางแห่งเขามีต้นยางใหญ่และสวยกว่าเราก็มีนะ แต่คุณค่ามันไม่ได้อยู่แค่ตรงความใหญ่หรือความสวย มันอยู่ที่ว่าคนในพื้นที่เองมองเห็นความสำคัญของเขาไหม ถึงคุณจะมีต้นไม้ใหญ่เรียงรายพอถนนขยายเข้ามาปุ๊บคุณก็ล้มมันทิ้งเลยเพราะคุณไม่เห็นความสำคัญ”

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เผยมุมมองปัจจัยที่ทำให้ถนนสายเชียงใหม่–ลำพูน หลงเหลือปริมาณต้นยางนาไม่ถึงครึ่งจากแต่ก่อน การเพิกเฉยและไร้การดูแลเอาใส่ใจยังนำมาซึ่งอีกปัญหาใหญ่ นั่นคือการเทคอนกรีตทับรากอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ต้นยางนาเสี่ยงล้มตายเนื่องจากดินโคนต้นถูกกดทับ อากาศและน้ำไม่สามารถถ่ายเท

ด้วยเหตุนี้อาจารย์จึงนำทีมปลุกปั้น โครงการ “การรักษาฟื้นฟูระบบรากและสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ยางนาถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ให้อยู่คู่ชุมชนอย่างปลอดภัย สวยงาม และยั่งยืน” ขึ้นเพื่อรวบรวมเครือข่ายและบรรดาอาสาสมัครมาร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปักหมุดไปที่การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรภาคีฯ ลงพื้นที่ปลูกฝังความเข้าใจและจุดประกายให้ชาวชุมชนทั้ง 5 เทศบาลตลอดสายถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ต้นยางนาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยเอื้อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน

นอกจากนี้คณะทำงานยังได้ดึงเอาทีมงานรุกขกรผู้เชี่ยวชาญ “หมอต้นไม้” มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสังเกตสัญญาณผิดปกติเสี่ยงเป็นอันตรายต่อต้นยางนา พร้อมลงมือปฏิบัติการเยียวยาขั้นพื้นฐาน โดยมีกิจกรรมนำร่องคือการปรับเปลี่ยนพื้นคอนกรีตโคนต้นยางนาต้นที่ 1 บริเวณจุดแดนเมือง ซึ่งถือเป็นต้นประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร ให้กลายเป็นบล็อก และปลูกต้นหญ้ารอบโคนเพื่อฟื้นฟูสุขภาพยางนาให้สามารถดูดซึมสารอาหารจากปุ๋ย น้ำ และถ่ายเทอากาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“ตอนนี้เราเพิ่งลงมือฟื้นฟูระบบรากต้นยางนาต้นที่ 1 เสร็จไป ซึ่งประจวบกับที่ก่อนหน้านั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาก็ได้ประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครอง สำคัญที่สุดในประกาศฉบับนี้ คือการไม่เข้าไปรบกวนระบบรากของต้นยาง ในนั้นชัดเจนมากนะครับว่าไม่ให้มีการเปลี่ยนพื้นผิวหรือเททับตรงโคนต้น ไม่ว่าจะเป็น คอนกรีต หรือเทของเสียที่มีพิษต่อระบบรากก็ห้ามทำในละแวก 10 เมตร เพราะมีบทลงโทษ” อาจารย์บรรจง กล่าว

“เราวางกรอบและเป้าของโครงการนี้เอาไว้ 3 ห่วง คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สังคมคือมองถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ใต้ต้นยาง เศรษฐกิจคือชุมชนเจ้าของพื้นที่เขาจะได้รับประโยชน์

สุดท้ายคือสิ่งแวดล้อมของเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่คงไม่ต้องอธิบายมากแล้ว เพราะว่าอย่างน้อยๆ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นถนนสายที่มีนิเวศสมบูรณ์และสวยงามจากต้นยางนาอายุร้อยกว่าปี จำนวนเกือบพันต้นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย”

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย – หัวหน้าโครงการการรักษาฟื้นฟูระบบรากและสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ยางนาถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน

“เพราะคนที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเมือง มีแค่วัยผู้ใหญ่ ถ้าเราไม่สร้างเยาวชน พอหมดรุ่นเราแล้วมันก็คงไม่มีคนสานต่อ อีกเรื่องคือคนรุ่นใหม่เขาใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้ดี สิ่งนี้จึงมาช่วยตอบโจทย์เรื่องการแจ้งเบาะแสเมื่อพบเจอต้นไม้หรือ ต้นยางนาที่เจ็บป่วยหรือโค่นล้มได้อย่างรวดเร็ว ล่าสุด เรามีแอปพลิเคชั่น C-SITE สำหรับทำฐานข้อมูลต้นยางนา ซึ่งมันเกิดผลพลอยได้ที่ว่าแอปพลิเคชั่นนี้จะเป็นตัวเชื่อมต่อให้ผู้ใหญ่และเยาวชนกล้าที่จะลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน”

ธนาวัน เพลินทรัพย์ – หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา ที่ชักชวนคนรุ่นใหม่มาช่วยเป็นหูเป็นตาและเป็นแรงในการอนุรักษ์ต้นไม้

อ้างอิง วารสารเอิ้นเน้อ