อนาคตยางนา 100 ปี 24 ต้น ที่แยกกองทราย กำลังจะเปลี่ยนไป

9 ก.ค. 63 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมยางนา-ขี้เหล็กสยาม และกลุ่มอนุรักษ์ต้นยางนา ร่วมประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางถนนหมายเลข 121 ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 108 ถึงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1006 ซึ่งเป็นการประชุมกลุ่มย่อยเฉพาะ หารือ ถึงรูปแบบและข้อกังวลรูปแบบทางการก่อสร้างบริเวณทางแยกกองทราย จุดตัดถนนสาย 121 กับถนนต้นยางนา สาย 106  ณ หอประชุมเทศบาลตำบลหนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่

โดยก่อนหน้านี้ (เมื่อ วันที่ 24 มิ.ย. 63) ทางสมาคมยางนา-ขี้เหล็กสยาม ได้สะท้อนในที่ประชุมฯ ว่า คณะทำงานที่ดูแลต้นยางนาในพื้นที่ เพิ่งจะทราบได้ไม่นาน ว่าจะเกิดโครงการฯในพื้นที่ และยังไม่มีโอกาสได้ให้ข้อมูลใดๆ พร้อมทั้งแสดงความกังวลในการศึกษาของทาง บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัดและบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาฯ ว่าจะมีต้นยางนาที่อาจจะได้รับผลกระทบจำนวน 2 ต้น ทั้งที่ความเป็นจริงตามรูปแบบ จะกระทบมากถึง 24 ต้น พร้อมกับย้ำว่า ทางสมาคมฯไม่ได้คัดค้าน และเข้าใจถึงบริบทการพัฒนาเมือง ที่จะต้องมีการเติบโต การคมนาคมจำเป็นต้องสะดวก แต่ปัจจุบันข้อมูลที่บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้สำรวจมา ยังไม่ชัดเจน ข้อมูลในรายงานยังไม่ละเอียดและรอบด้าน ซึ่งทางตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ ก็ยอมรับว่า โดยพร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอแนะ จึงได้มีการนัดหมายเพื่อหารือเป็นกลุ่มเฉพาะในครั้งนี้

ในการประชุม มีการแสดงความกังวล ว่าทั้งที่อยู่ในเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดแวดล้อมฯ พ.ศ. 2558 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ลักษณะการสร้างถนนกลับยังคงรูปแบบเดิม ทั้งที่ควรจะเป็นรูปแบบหรือนวัตกรรมใหม่ ที่ถนนเป็นมิตรกับต้นยางนา หนึ่งในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือการสร้างขอบทางชิดต้นยางนา มีการสะท้อนว่าทางบริษัทที่ปรึกษา เคยมีคิดคำนวณรัศมีของระบบรากหรือไม่ หากดำเนินการตามที่เคยมีการออกแบบและเคยนำเสนอ ต้นยางนากว่า 24 ต้นบริเวณทางแยกใหม่นี้ (ไม่รวมที่ถูกตัดแล้ว 2 ต้น 656 และ 671) จะค่อยๆโทรม และยืนต้นตายในที่สุด ขณะเดียวกันต้องการให้มีการนำเสนอภาพรูปแบบความคิด (Mindset) ที่เห็นตรงกันก่อน เช่น แยกกองทรายงดงาม ต้นยางนาเจริญเติมโตสมบูรณ์ ด้วยนวัตกรรมถนน การดูแลต้นไม้ใหญ่ พื้นที่ แหล่งเรียนรู้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานได้ในระดับประเทศและระดับโลก สอดคล้องกับการเป็นถนนสายวัฒนธรรม

มีการให้ข้อเสนอแนะ ด้านเทคนิควิธีการก่อสร้าง ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หากจะใช้วิธียกพื้นถนนลอยทั้งหมด เพื่อไม่กระทบระบบรากต้นยางนาเลย หรือใช้ลูกเต๋าโปร่ง (โพคารา) หรือพื้นแอสฟัลท์พรุน ซีเมนต์พรุน ฝั่งท่อน้ำเกลียวสร้างปอดรากไม้ใต้ดิน การปักหมุดขึงลวดสลิงยึดโยงต้นยางนาป้องกันโค่นล้มจากแรงลมพายุ เป็นต้น

โดยหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจ คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างจากทางยกระดับ เป็นอุโมงค์ทางลอดแทน เพื่อไม่บดบังทัศนียภาพเดิมที่งดงามของถนนสายต้นยางนา โดยต้องระวังไม่ให้กระทบกับระบบรากต้นยางนา 2 ต้น(654 และ 658) ที่อยู่ริมถนน พร้อมกับออกแบบผนังอุโมงค์เป็นศิลปล้านนา หรือสื่อให้เห็นถึงระบบนิเวศใต้ดิน สอดคล้องกับการเป็นถนนสายวัฒนธรรม


ขณะที่สมาคมยางนา-ขี้เหล็กสยาม ยังให้ข้อเสนอแนะ มาตรการลดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางนา 5 ข้อ ให้ทางบริษัทที่ปรึกษาฯ มีการบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างแยกกองทรายเพื่อลดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางนา ดังนี้

  1. ใช้หลักการของ TRZ (  Tree Root Zone ) เพื่อปกป้องการเจริญเติบโตของระบบรากต้นยางนา
  2. มาตรการป้องกันการบดอัดแน่นดิน รอบโคนต้นยางนา ในช่วงการก่อสร้าง
  3. ให้มีแผนงานจัดการพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันรักษาต้นไม้ TPP ( Tree Protection Plan ) แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
    • ระยะก่อนการก่อสร้าง มีการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพ มาตรการ ปกป้องดูแลต้นยางนา
    • ระหว่างการก่อสร้าง ให้ปฏิบัติตามมาตรการ ปกป้องดูแลต้นยางนา ระหว่างการก่อสร้าง เช่น  การสร้างแนวรั้วมาตรฐาน ป้องกันการบดอัดแน่นผิวดิน ในระยะ TRZ
    • ระยะหลังการก่อสร้าง การติดตามเพื่อ บำรุงรักษา ดูแลสุขภาพต้นยางนา เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของต้นยางนา ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง  ให้ต้นยางนา
  4. ใช้นวัตกรรม โครงสร้าง วัสดุผิวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการเจริญเติบโตของต้นยาง เช่น การใช้สะพานราก ด้วยรูปแบบของ pocara วัสดุพื้นพรุน
  5. ฟื้นฟู สภาพของต้นยาง ในแนวเขตการก่อสร้าง ให้มีการปรับเปลี่ยนผิวทาง โดยใช้นวัตกรรมโครงสร้าง วัสดุผิวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ  การฟื้นฟูระบบต้นยางนา ให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นด้วยการเติมอากาศ น้ำและธาตุอาหาร

โดยทางบริษัทที่ปรึกษาฯ รับว่าจะนำข้อมูลทั้งหมด ไปศึกษาความเป็นไปได้ โดยเฉพาะข้อเสนอให้ศึกษาและออกแบบบริเวณแยกกองทราย เป็นแบบอุโมงค์ (ที่อาจจะต้องขุดลึกถึง 8 เมตร และค่าใช้จ่ายจะสูงกว่า 3 เท่า) และแบบตอหม้อสะพาน ซึ่งจะดำเนินการปรับ และพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบที่เหมาะสมอีกครั้ง

สำหรับการสำรวจและออกแบบปรับปรุง ทางหลวงหมายเลข 108 จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1006 มีเป้าหมาย เพื่อแก้ไขการจราจรหนาแน่น ซึ่งมีปริมาณรถ 10,000-20,000 คันต่อวัน ซึ่งส่งผลให้บางช่วงเวลา รถติดขัดเป็นระยะทางยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการเดินทางในอนาคต ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ ดำเนินการโดย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัดและบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยตาม TOR กรอบเวลาได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่มีการต่อสัญญาขยายเวลาการศึกษาออกไป เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่วนกำหนดการต่อจากนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในทุกทางแยกอีกครั้ง ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 นี้

ข้อมูลเว็บไซต์โครงการฯ : http://www.highway121interchange108-1006.com/