ไมคลอไรซ่า หัวใจในการฟื้นฟูระบบรากต้นยางนา

ในการฟื้นฟูระบบรากต้นยางนานั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจในการฟื้นฟู คือ ไมคลอไรซ่า

ไมคลอไรซ่าคืออะไร?

ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เป็นการอยู่ร่วมกันแบบภาวะพึ่งพากัน (mutualism) ระหว่าง ฟังไจ (fungi) และรากพืช โดยที่พืชได้รับน้ำและธาตุอาหาร เช่น ฟอสฟอรัสและไนโตรเจนจากฟังไจ ในขณะที่ฟังไจได้รับสารอาหารที่จำเป็น เช่น น้ำตาล กรดอะมิโนและวิตามินจากพืชผ่านทางระบบราก เส้นใยของฟังไจหรือไฮฟา (hypha) ที่เจริญอยู่ภายนอกรากและภายในรากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมธาตุอาหารให้แก่พืช จึงทำให้พืชที่มีฟังไจไมคอร์ไรซา (mycorrhizal fungi) อาศัยอยู่ที่รากมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าพืชที่ไม่มีฟังไจไมคอร์ไรซา นอกจากนี้ฟังไจไมคอร์ไรซายังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช จากการศึกษาพบว่า รากของพืชเกือบทุกชนิดมีฟังไจไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่ และมีส่วนช่วยให้พืชรอดชีวิตเมื่อเจริญบนดินที่มีสภาพไม่เหมาะสมได้ เช่น ดินที่มีความเป็นกรดสูง ดินเค็มและดินที่ขาดธาตุอาหาร เป็นต้น

ชนิดของไมคอร์ไรซา

จากลักษณะทางสัณฐานวิทยาและสรีรวิทยาของฟังไจ สามารถจำแนกไมคอร์ไรซาได้เป็น 2 กลุ่ม ที่มีความสำคัญและมีการแพร่กระจายมากคือ เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) และอาบัสคูลาไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza) หรือเอนโดไมคอร์ไรซา (endomycorrhiza)

เอคโตไมคอร์ไรซา

เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างฟังไจและรากพืช โดยไฮฟาของฟังไจจะเจริญรอบๆ รากและสานตัวเป็นแผ่นหรือเป็นปลอกหุ้มเรียกว่าแมนเทิล (mantle) ซึ่งจะมีสีและความหนาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของฟังไจ ไฮฟาบางส่วนจากแมนเทิลจะเจริญเข้าไปอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ชั้นเอพิเดอร์มิสและชั้นคอร์เทกซ์ของรากพืช แล้วเจริญสานกันเป็นตาข่ายอยู่รอบๆ เซลล์ เรียกว่าฮาทิกเนท (Hartig net) ฟังไจเอคโตไมคอร์ไรซามีมากกว่า 5,000 ชนิดและอยู่ร่วมกับรากของพืชใบเลี้ยงคู่ที่เป็นไม้พุ่มและไม้ต้นประมาณ 8,000 ชนิด เช่นพืชในวงศ์สน (Pinaceae) และวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นต้น แต่ไม่พบฟังใจเอคโตไมคอร์ไรซาอยู่ร่วมกับรากของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว

ฟังไจเอคโตไมคอร์ไรซาส่วนใหญ่อยู่ในไฟลัมเบสิดิโอไมโคตา (Phylum Basidiomycota) และบาง ส่วนอยู่ในไฟลัมแอสโคไมโคตา (Phylum Ascomycota) และไฟลัมไซโกไมโคตา (Phylum Zygomycota) เมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ฟังไจเอคโตไมคอร์ไรซาจะสร้างดอกเห็ดทั้งที่อยู่บนดินและใต้ดิน ฟังไจที่สร้างดอกเห็ดบนดิน เช่น เห็ดลูกฝุ่น (Rhizopogon) และเห็ดน้ำนม (Lactarius) เป็นต้น บางชนิดนิยมนำมารับประทาน เช่น เห็ดระโงกเหลือง (Amanita hemibapha) และเห็ดน้ำหมาก (Russula) เป็นต้น ส่วนฟังไจที่สร้างดอกเห็ดใต้ดิน เช่น เห็ดเผาะ (Astraeus) และเห็ดทรัฟเฟิล (truffle) ซึ่งเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานมากในประเทศเขตหนาว มีราคาแพงเนื่องจากมีรสชาติอร่อยและไม่สามารถเพาะได้ต้องเก็บจากป่าเท่านั้น

อาบัสคูลาไมคอร์ไรซา

เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างฟังไจและรากพืช โดยไฮฟาของฟังไจเจริญเข้าไปในเซลล์ชั้นคอร์เทกซ์ของราก และสร้างอาบัสคูล (arbuscule) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกะหล่ำดอก ซึ่งฟังไจใช้สะสมธาตุอาหาร และส่งธาตุอาหารไปให้กับพืช บางครั้งฟังไจจะสร้างเวสิเคิล (vesicle) ที่บริเวณปลายหรือกลางไฮฟา ซึ่งจะมีรูปร่างกลมหรือรูปไข่ ผนังหนา ภายในเวสิเคิลมีหยดไขมันสีเหลือง ใช้สำหรับเก็บสะสมสารอาหารของฟังไจ นอกจากนี้ยังพบสปอร์ที่สร้างจากไฮฟาภายนอกรากใช้สำหรับแพร่พันธุ์


ฟังไจอาบัสคูลาไมคอร์ไรซาอยู่ในไฟลัมโกลเมอโรไมโคตา (Phylum Glomeromycota) อาศัยอยู่ร่วมกับพืชได้เกือบทุกชนิดและพบในระบบนิเวศที่หลากหลาย เช่นป่าเขตร้อน ป่าโกงกาง ทุ่งหญ้าและทะเลทราย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพดและมะเขือเทศ เป็นต้น และพบในพืชสวน เช่น ทุเรียน ลำใยและส้ม เป็นต้น

การใช้ประโยชน์จากฟังไจเอคโตไมคอร์ไรซาและฟังไจอาบัสคูลาไมคอร์ไรซา

ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของฟังไจเอคโตไมคอร์ไรซาในการปลูกป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีการตัดไม้หรือทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งหน้าดินถูกชะล้างไปมาก การปลูกกล้าไม้ที่มีฟังไจเอคโตไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่ที่ราก จะทำให้พืชมีอัตราการรอดตายสูงและเจริญเติบโตได้ดี สำหรับฟังไจอาบัสคูลาไมคอร์ไรซาจะใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชไร่ เช่น กาแฟและยาสูบ เป็นต้น และสามารถใส่ฟังไจอาบัสคูลาไมคอร์ไรซาให้อาศัยอยู่ร่วมกับพืชสวน เช่น ส้มและกล้วย เป็นต้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้

จะเห็นได้ว่า เชื้อราไมคลอไรซ่า มีประโยชน์ ช่วยทำหน้าที่ยับยั้งการเกิดโรค ละลายแร่ธาตุที่ เป็นประโยชน์ สลายอินทรียวัตถุ สร้างภูมิคุมกัน จากเชื้อรา และแบคทีเรียที่ทำให้เป็นโรค เร่งอัตราการเจริญเติบโตของรากด้วยคุณสมบัติและประโยชน์เหล่านี้ จึงเลือกนำมาฟื้นฟูระบบรากต้นยางนาที่ป่วยหนักอยู่

เรื่องโดย : ธนาวัน เพลินทรัพย์ เจ้าหน้าที่เทคนิค ทีมหมอต้นไม้