ภารกิจคืน (คุณภาพ) ชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 1:
5 เหตุผลที่เรารักษ์ถนนสายต้นยาง

นี่ไม่เพียงเคยเป็นถนนสายหลักเชื่อมจังหวัดลำพูนสู่เชียงใหม่ และเชื่อมเชียงใหม่สู่จังหวัดอื่นๆ ทางตอนใต้เท่านั้น หาก ‘ถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่า’ ที่รู้จักกันในนาม ‘ถนนสายต้นยาง’ ยังเป็นหนึ่งในถนนที่มีทัศนียภาพที่งดงามและร่มรื่นที่สุดสายหนึ่งของประเทศ แถมยังมีประวัติศาสตร์ที่ผูกโยงกับวิถีของผู้คน จนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด เมื่อต้นยางนาริมถนนบางต้นถูกโค่นลงทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร คนเชียงใหม่จึงเป็นเดือดเป็นร้อนนัก และเหล่านี้เป็นเพียง 5 จากอีกหลายเหตุผลนับไม่ถ้วน ว่าทำไมคนเชียงใหม่ถึงรักถนนและรักษ์ทิวต้นยางริมถนนสายนี้

                                                                                            

เส้นทางแห่งการสร้างอาณาจักรล้านนา
หลายร้อยปีก่อนจะมีการปลูกต้นยางนาในปี พ.ศ.2442 (จากพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5) เส้นทางสายเชียงใหม่-ลำพูนสายนี้ ถือได้ว่าเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์อันเป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรล้านนา เนื่องจากไม่เพียง ‘เวียงกุมกาม’ จะตั้งอยู่ในพื้นที่ หากทว่า…นี่อาจเป็นเส้นทางที่พญามังรายใช้สัญจรย้ายไพร่พลจากเวียงกุมกามขึ้นไปสถาปนาเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.1839 รวมทั้งยังเป็นเส้นทางที่พญามังรายยกทัพไปเมืองลำพูน เพื่อรวมอาณาจักรหริภุญชัยให้เป็นส่วนหนึ่งของล้านนา ที่ถึงแม้ปัจจุบันอาณาจักรล้านนาจะเหลืออยู่เฉพาะในหน้าประวัติศาสตร์ หากเมืองเชียงใหม่ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงได้รับการสืบสานจนกลายเป็นมรดกอันโดดเด่นและน่าภูมิใจ         

สัญลักษณ์ของการฟื้นฟูเชียงใหม่
ไม่เพียงเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมือง หากต้นยางนา ยังเป็น ‘ไม้หมายเมือง’ หรือ ‘ไม้หมายถิ่น’ ที่ใช้บอกอาณาเขตหรือเป็นแลนด์มาร์คของสถานที่ เช่น ต้นยางนาอายุสองร้อยกว่าปีข้างเสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ภายในวัดเจดีย์หลวง ที่ซึ่งภายหลังเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ภายหลังตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าหลายร้อยปี เจ้ากาวิละก็ทรงดำริให้ปลูกต้นยางนาต้นนี้เพื่อเป็น ‘หมายเมือง’ คู่กับเสาอินทขิล ในปีที่ย้ายเสาจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ. 2353 (ครับ… ต้นยางนาที่เราเห็นนั้นมีอายุมากกว่าสองร้อยปีเข้าให้แล้วครับ) ต้นยางนาจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูเมืองจนรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
นี่คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 เชื่อมจากอำเภอเมืองเชียงใหม่สู่อำเภอสารภีและไปจรดพรมแดนของจังหวัดลำพูนรวมระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยมีต้นยางนาเรียงรายตลอดสองข้างทางจำนวน 949 ต้น ร้อยต่อกับทิวต้นขี้เหล็กสองข้างทางถนนของจังหวัดลำพูน แม้กาลเวลาทำให้ต้นยางนาบางต้นอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและไม่ครบสมบูรณ์ หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นไม้ที่ขึ้นสูงชะลูดริมถนนสายนี้ สร้างภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น งดงาม และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ยางนาสร้างชีวิต
แต่เดิมเรานำลำต้นของยางนามาสร้างบ้านเรือน น้ำมันยางจากต้นยางสามารถนำมาใช้เป็นยาเครื่องจักสาน ทาไม้ อุดเรือรั่ว และผสมขี้เลื่อยจุดไฟให้แสงสว่างในยามค่ำคืน หรือลำพังแค่ต้นยางนาที่ตั้งให้ร่มเงาเฉยๆ ยังเอื้อให้ดอกเห็ดหลากชนิดเติบโต ที่สำคัญทั้งเปลือก ใบ และเมล็ด ล้วนเป็นสมุนไพรที่สร้างเสริมสุขภาพของเราทั้งนั้น นี่คือต้นไม้ใหญ่ที่ทุกรายละเอียดของมันเชื่อมร้อยกับวิถีชีวิตผู้คนตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวัน

เครื่องฟอกอากาศของเมือง
แม้คุณจะไม่อินหรือไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นประวัติศาสตร์ที่แฝงฝังสองข้างถนน หากข้อเท็จจริงที่ว่าต้นไม้ใหญ่ริมถนนสายประวัติศาสตร์จำนวนเก้าร้อยกว่าต้นเหล่านี้มีคุณสมบัติพื้นฐานคือการฟอกอากาศให้กับผู้คนในพื้นราบ ครับ… ในเมื่อภูมิศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะ และไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นควันในทุกฤดูแล้งของทุกปี หนึ่งในวิธีที่จะแก้ปัญหาหมอกควันได้ดี ก็คือการช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้เอาไว้ให้มากที่สุด เพราะไม่มีเครื่องฟอกอากาศเครื่องไหนจะฟอกได้ดีไปกว่าต้นไม้ใหญ่อีกแล้ว

และเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ว่าทำไมคนเชียงใหม่ถึงต้องคู่กับต้นยางนา เพราะทั้งรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และภูมิทัศน์ที่โดดเด่นคือสิ่งย้ำเตือนความรุ่มรวยและสุนทรียะของเมืองเชียงใหม่แห่งนี้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันนี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นอกจากเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์อันสดใหม่ กระบวนการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ยังถือเป็นเครื่องชี้วัดความศิวิไลซ์ของเมืองนั้นๆ ในโลกสมัยใหม่ด้วย

ในเมื่อเชียงใหม่เรามีต้นทุนอันยอดเยี่ยมแล้ว เหตุใดเราจะไม่ต่อยอดมรดกนั้นให้สร้างคุณค่าและความภาคภูมิให้คนรุ่นหลังต่อไปอย่างไม่รู้จบกันละครับ