ปริศนา “ต้นยางนา”
จาก “ไม้หมายเมือง”
สู่ “ถนนเชียงใหม่-ลำพูน”
(ตอนที่ 2)

เรื่องโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

ต้นยางนา-ไม้หมายเมือง จากเชียงตุงสู่เชียงใหม่?

                  จากตอนที่แล้ว ได้ข้อสรุปคร่าวๆ ว่า “ต้นยางนา” จำนวนประมาณพันต้น ที่รายสลอนสองข้างถนนทางหลวงแผ่นดินสาย 106 เชื่อมเมืองเชียงใหม่ที่อำเภอสารภีกับตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูนนั้น น่าจะมีอายุประมาณ 112 ปี (หากยึดเอา พ.ศ. 2445 ปีที่คาดกันว่า เป็นปีแรกที่พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์เข้ามาเป็นข้าหลวงที่เชียงใหม่ และเป็นผู้ที่น่าจะนำต้นยางมาปลูก)

หรืออาจมีอายุเก่ากว่านั้นอีกหนึ่งทศวรรษ คือ 122 ปี  (หากยึดเอาปี 2435 ปีที่สร้างถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน โดยปิแยร์ โอร์ตได้เดินทางผ่านถนนสายนี้ พ.ศ. 2440)

ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข 112 ปีหรือ 122 ปีก็ตามแต่  ถือได้อายุของต้นยางนาที่อำเภอสารภีนี้ยังไม่มากนัก จึงเกิดคำถามตามมาอีกว่า ถ้าเช่นนั้นในเมืองเชียงใหม่ เคยมีต้นยางนาอื่นใดอีกบ้างหรือไม่ ที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่า 122 ปี

คำตอบคือมี มีหลักฐานระบุว่าต้นยางนาสองต้น (แต่เดิมทางวัดบอกว่าเคยมีมากกว่านี้) ภายในวัดเจดีย์หลวง กลางเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ (ต้นหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด ด้านหลังวิหารเสาอินทขีล และอีกต้นตั้งอยู่ที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้) มีป้ายประวัติเขียนไว้ว่า

“ต้นยางนี้ปลูกสมัยพระญากาวิละเจ้าผู้ครองเชียงใหม่ องค์ที่ 1 แห่งวงศ์ทิพยจักร (พ.ศ.2324-2358) สันนิษฐานว่า ปลูกขึ้นมาเพื่อให้เป็นไม้หมายเมือง ในปีที่ย้ายราชธานีมาจากเวียงป่าซาง (ลำพูน) มาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อพ.ศ. 2339 …..”

                  หากข้อสันนิษฐานตามป้ายนี้ไม่คลาดเคลื่อนเกินไปนัก ต้นยางใหญ่สองต้นในวัดเจดีย์หลวง ก็ย่อมมีอายุอานามราว 218 ปี คือมีมาก่อนต้นยางนาพันต้นที่ถนนสาย 106 ร่วม 100 ปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ไม่นับต้น “ยาง” แห่งวัด “ยางหนุ่ม” ที่ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญไชย หรือต้นยางทั้งหลายที่กวีรจนาไว้ในลิลิตพระลอ ซึ่งย่อมมีอายุมากกว่า 500 ปี แต่ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใดกันบ้าง

อย่างน้อยที่สุด เราก็พอจะทราบวัตถุประสงค์ของการปลูกต้นยางนาหรือยางใหญ่ของพระญากาวิละที่วัดเจดีย์หลวง ว่าต้องการให้เป็น “ต้นไม้เคียงคู่กับเมืองเชียงใหม่” หรือที่เรียกว่า “ไม้หมายเมือง”

ทำไมต้องมี “ไม้หมายเมือง” คนโบราณเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่แต่ละต้นล้วนมีเทวดาอารักษ์ บางคนว่าในสมัยโบราณการเดินทางมาเชียงใหม่นั้นใช้เวลายาวนานมาก ก่อนเข้าเมืองเชียงใหม่ไม่ว่าจะเดินทางมาจากทิศทางใดมักจะมองเห็นยอดไม้ยางนาสองต้นในวัดเจดีย์หลวงลิบๆ นั่นแปลว่ามาถึงเชียงใหม่ ให้เตรียมสัมภาระได้เลย

บ้างก็ว่า ไม้หมายเมืองใช้เป็นจุดนัดหมายของชาวบ้าน พ่อค้าจากต่างถิ่นนัดเจอกันเมื่อเข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่ ยุคสมัยที่ไม่มีตึกสูงหรือศูนย์ประชาสัมพันธ์จุดนัดพบ ดังนั้นเมื่อแต่ละคนหลั่งไหลเข้ามาในเมืองแล้ว ก็มักจะมากระจุกตัว ณ บริเวณต้นยางอันสูงเด่นเป็นสง่านี้ จึงได้ชื่อว่าไม้หมายเมือง

คำถามที่ตามมาอีกก็คือ การนำ “ต้นยางนา” มาเป็นสัญลักษณ์แทนไม้หมายเมืองของเชียงใหม่ เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคไหน เก่าถึงยุคล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายเมื่อราว 700 ปีก่อนแล้วหรือไม่

คำตอบก็คือ “ไม่ใช่” เพราะเอกสารโบราณระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม้หมายเมือง” ในยุคที่พระญามังรายแรกสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ใช้ “ไม้นิโครธ” หาใช่ “ไม้ยางนา” ไม่

“ไม้นิโครธ” หรือ “อชปาลนิโครธ” (อ่านแบบบาลีต้องเรียงพยางค์เป็น นิ-โค-ระ-ธะ แต่คนเมืองอ่าน “นิโคธ” ส่วน อะ-ชะ-ปาล แปลว่าคนเลี้ยงแกะ หมายถึงไม้ที่คนเลี้ยงแกะอาศัยเงาร่มพักพิง) เป็นไม้ใหญ่ในตระกูลต้นกร่าง-ต้นไทร ที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติเด่นๆ สองตอนคือ

ตอนแรก เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาแล้วเสด็จไปประทับนั่งที่ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา และอีกตอนพบว่าเป็นหนึ่งใน “สัตตมหาสถาน” เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ 7 วันแล้วจึงได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ต้นไทรนิโครธ เป็นเวลาอีก 7 วัน

ในเมื่อคติการนำต้นยางนามาเป็นไม้หมายเมืองไม่ใช่ของล้านนาแต่ดั้งเดิม ชวนให้สงสัยว่าพระญากาวิละไปได้รับแนวคิดหรือแรงบันดาลใจเรื่องการใช้ต้นยางนาเป็นไม้หมายเมืองมาจากที่ใด

พบว่าที่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ณ ดอยจอมมน (จอมมอญ) ได้พบต้นยางนาขนาดสูงใหญ่ราว 218 ฟุต รอบฐานยาวถึง 39 ฟุต มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าอลองพญา ปลูกไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการปราบปรามราชวงศ์ผู้สืบเชื้อสายของเจ้าฟ้าไทใหญ่-ไทขึนให้อยู่ภายใต้อำนาจพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2290

ดังนั้น ไม้หมายเมืองที่เชียงตุงก็มีอายุเก่าแก่ถึง 267 ปีทีเดียว มีมาก่อนปีที่พระญากาวิละยกทัพขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงตุงลงมาเป็นประชากรหลักในเมืองเชียงใหม่ (ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ร่วม 60 ปี

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระญากาวิละไปรับคติการใช้ต้นยางนาเป็นไม้หมายเมืองมาจากเมืองเชียงตุง?

ไฉนเมื่อพระญากาวิละฟื้นเมืองเชียงใหม่แล้ว จึงไม่นำไม้นิโครธมาเป็นไม้หมายเมืองดุจเดิม ฤๅไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย กล่าวคือไม้นิโครธนี้เคยถูกพม่าเล่นคุณไสยทำลายลง จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้แก่พม่านั่นเอง

ในทางกลับกัน พระญากาวิละสามารถพิชิตเมืองเชียงตุงได้ ดังนั้นสถานะของต้นยางนาน่าจะเป็นความหวังใหม่ ปลุกพลังให้รู้สึกฮึกเหิมแทนไม้นิโครธในสัญลักษณ์ของ “ไม้หมายเมือง” ได้ดีกว่า

ถนนสายประวัติศาสตร์ กับความเป็นมาสองเวอร์ชั่น

                  ในเมื่อต้นยางนาที่วัดเจดีย์หลวง มีสถานะเป็น “ไม้หมายเมือง” ให้แก่เชียงใหม่มาตั้งแต่สมัยพระญากาวิละ ชวนให้สงสัยว่าการเลือกต้นยางนามาปลูกรายเรียงสองข้างทางถนน ในลักษณะ Boulevard ตามแนวคิดตะวันตกเช่นนี้ ข้าหลวงจากสยามมีความเชื่อเรื่อง “ไม้หมายเมือง” เฉกเช่นคนพื้นเมืองด้วยหรือไม่

หรือว่าหลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับเจ้านายฝ่ายเหนือแล้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เสนอให้ปลูกต้นยางนาอันเป็นไม้หมายเมือง เพื่อเจริญรอยตามปณิธานของพระญากาวิละ ส่วนเจ้าผู้ครองนครลำพูนเสนอให้ปลูกต้นขี้เหล็ก (กรณีเมืองลำพูนก็ยังเป็นปริศนาอยู่ว่าทำไมต้องเลือกต้นขี้เหล็ก?) ข้าหลวงสยามก็เปิดไฟเขียวให้โดยไม่มีข้อแม้

ขั้นตอนการลงมือปลูกต้นไม้สองประเภทคือยางนากับขี้เหล็กของเชียงใหม่-ลำพูนนี้ มีการเล่าขานความเป็นมาที่แตกต่างไปกันคนละทิศละทาง ชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

กล่าวคือ มีเอกสารรายงานจากหม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นมหาอำมาตย์ตรี พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์) ข้าหลวงประจำนครเชียงใหม่ ได้ทำรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยว่า

“ถนนที่เมืองนครเชียงใหม่ ตั้งแต่สนามแข่งม้า จนถึงต่อแดนเมืองนครลำพูน หม่อนอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ได้ให้เจ้าราชบุตร (ขณะนั้นคือเจ้าน้อยคำตื้อ ณ เชียงใหม่) เป็นแม่กองใหญ่ เจ้าน้อยมหาวัน พระยาสุนทร พระยาธรรมพิทักษ์ พระยาเทพวงษ ท้าวขุนแก้ว เป็นผู้ช่วยให้แบ่งหน้าที่กันทำเป็นตอนๆ ถนนสายนี้ได้ทำเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม รศ.119 เจ้าอุปราช (นามเดิมน้อยสุริย ต่อมาคือเจ้าอินทวโรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8) แลข้าราชการอีกหลายนาย พร้อมด้วยหม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ได้ไปตรวจดูถนนสายนี้ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเรียบร้อยดีพอใช้ รถเทียมม้าได้ตลอดทาง แลเป็นที่กว้างมาก ข้างริมคันถนน เจ้าราชบุตรได้สั่งให้ปลูกต้นยางได้ปลูกแล้วบ้าง แลกำลังปลูกอีกต่อไป”

ส่วนถนนในเขตเมืองลำพูนนั้น ปรากฏความในโทรเลขที่เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 แจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 118 ว่า

“เจ้านครลำพูนพร้อมกับพระยาศรีสหเทพได้จัดที่นอกเวียงข้างเหนือทำเป็นตลาดหลวงใหญ่ตลอดออกไปจากถนนในเวียง เจ้านครลำพูนรับก่ออิฐ ถนนก่ออิฐตั้งตะแคงอย่างถนนในกรุงเทพฯ แต่เมืองนครลำพูนไปจนต่อเขตแดนเมืองนครเชียงใหม่กำหนดจะแล้วใน 4 เดือน”

น่าแปลกที่ข้อความในส่วนนี้ ฝ่ายลำพูนไม่มีการกล่าวถึงการปลูกต้นขี้เหล็กแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะข้อความในโทรเลขมีข้อจำกัดด้านความยาวของเนื้อหา หรือว่าค่อยปลูกต่อจากนั้นอีก 4 เดือนหลังจากทำถนนให้เสร็จก่อน

เรื่องปารปรับปรุงและขยายผิวถนนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ปรากฏอีกครั้งตามเอกสารใบบอก ร.ศ.124 ระบุว่าของพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม  ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) ความว่า

“ถนนสายนครเชียงใหม่ไปนครลำพูนที่ทำไว้แล้วแต่ก่อนแคบไปบ้าง กว้างไปบ้างไม่เท่ากัน และชำรุดทรุดโทรมไปมาก ถนนสายนี้เป็นทางสำคัญ ลูกค้าได้อาศัยใช้ล้อเกวียนเป็นประโยชน์ในการค้าขายแลคนเดินทางมาก เต้าสนามหลวงนครเชียงใหม่กับนครลำพูนได้ตกลงกันจะช่วยซ่อมแซมทำให้ดีขึ้น ได้ให้มิสเตอร์โรเบิร์ตตี้  ที่ข้าหลวงโยธา ออกไปเป็นผู้แนะนำ แลในแขวงเชียงใหม่จัดให้เจ้าบุรีรัตน์กับกรมการแขวงป่ายางเป็นผู้ดูแล ส่วนแขวงลำพูนจัดให้เจ้าราชภาติกวงษ์เป็นผู้ดูแล  ทั้งสองกองนี้ได้ขอแรงราษฎรมาช่วยทำเดือนเศษจึงแล้วเสร็จ  ถนนสายที่ทำนี้ทำโดยกว้าง 3 วา นาว 665 เส้น” (เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ม.58/46 เรื่อง ก่อสร้างซ่อมถนนถนนหนทาง แลตะพานในมณฑลพายัพ (27 กรกฎาคม 120 – 30 สิงหาคม 124 อนุเคราะห์โดย อ.วรชาติ มีชูบท)

จากข้อความที่ยกมาเริ่มปรากฏชื่อของชาวตะวันตกอย่างชัดเจนขึ้น คือมิศเตอร์โรเบิร์ตตี้ (Mr. Roberti) ซึ่งไม่แน่ใจในสัญชาติ แต่จากชื่อที่มี i ต่อท้ายเช่นนี้ น่าจะเป็นชาวอิตาเลียนมากกว่า ดังนั้นควรเรียกให้ถูกต้องว่า “ซินยอร์โรแบร์ตี”

ปัจจุบันวัดความกว้างผิวทางเฉลี่ย 5.98 หรือ 6 เมตร และมีความยาวตลอดช่วงที่ปลูกต้นยางทั้งหมด 27.25 เมตร ส่วนต้นยางนั้น ยุคแรกปลูกดกครึ้มมีประมาณราว 2,000 ต้น ปลูกอย่างมีระเบียบเป็นแถวเป็นแนว เว้นระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา

เมื่อปลูกต้นยางนาในเขตเชียงใหม่และปลูกต้นขี้เหล็กในเขตลำพูนแล้ว ได้มีการกำหนดกฎระเบียบในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนนและที่ทำการของราชการ ถ้าต้นยางนาปลูกตรงกับหน้าบ้านใด ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้า ใส่ปุ๋ย

สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใด จะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบ โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเหยีบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน1 เดือน (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.ศ.120)

ส่วนความเป็นมาของ “ต้นยางนากับต้นขี้เหล็ก” ในแบบฉบับเวอร์ชั่นชาวบ้านกลับเล่าขานกันต่อๆ มาว่า เมื่อครั้งโบราณยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่แน่นอนนักระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน เจ้าผู้ครองนครทั้งสองจึงมาตกลงกันว่า ควรมีการกำหนด “จุดแดนเมือง” บนเส้นทางสายเลียบแม่น้ำปิงเก่าสายนี้ให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาแก่ลูกหลานในวันข้างหน้า

โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ต่างฝ่ายต่างใช้วิธีปลูก “ไม้หมายเมือง” พันธุ์ที่คัดสรรไว้เป็นอย่างดี ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ เริ่มจากเขตประชิดเมืองของตนก่อน แล้วค่อยๆ กินแดนกลางมาเรื่อยๆ จนกว่าจะมาบรรจบกัน ฝ่ายไหนปลูกต้นไม้ได้ไกลมากแค่ไหนก็จะได้เขตแดนเมืองมากเท่านั้น

ครั้นถึงกำหนดวันนัดหมาย เจ้าผู้ครองนครทั้งสองต่างออกจากประตูเมืองของตนพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงพระลั่นกลองเพล ต่างมุ่งหน้านำกล้าไม้ส่งให้เหล่าบริวารลงมือปลูกสองข้างแนวถนน ฝ่ายเจ้าผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่มีวิสัยทระนงรักความโออ่าสง่าภูมิฐาน จึงเลือกต้นยางนาเพื่อให้ดูสูงโดดเด่นเป็นศักดิ์เป็นศรี

ในขณะที่เจ้าผู้ครองนครลำพูนคำนึงถึงปากท้องของประชาชนมากกว่า จึงเลือกต้นขี้เหล็ก คือแม้จะไม่สูงสง่าราศี เพราะขี้เหล็กมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม แต่ก็ให้ร่มเงาและสามารถเด็ดดอกใบมาต้มแกงประทังชีพได้ ด้วยความที่เชียงใหม่เป็นเมืองเปิด ติดต่อค้าขายกับผู้คนหลายหลาก ทำให้เห็นโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่า เจ้าเมืองเห็นว่าควรเสด็จด้วยกระบวนม้า เพราะต้องทำเวลาแข่งกับลำพูน

ฝ่ายผู้ครองนครลำพูน ไม่ค่อยคุ้นเคยกับพวกพ่อค้า จึงค่อยๆ ละเลียดยุรยาตราด้วยกระบวนช้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายลงมือปลูกต้นไม้กินแดนไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็มาบรรจบกันตามข้อตกลง จึงปักเขตแดนเมือง ซึ่งยังปรากฏมีศาลเจ้าพ่อ “แดนเมือง” ตราบเท่าทุกวันนี้

ผลปรากฏว่า ฝ่ายเชียงใหม่ซึ่งนั่งม้าได้พื้นที่มากกว่าฝ่ายลำพูนที่มัวแต่ขึ้นช้าง คือต้นยางนาของเชียงใหม่นั้นจากสะพานนวรัฐมาถึงแดนเมืองวัดความยาวถนนได้ 15.8 ก.ม. แต่ลำพูนวัดแนวถนนต้นขี้เหล็กได้เพียง 10.7 ก.ม. เท่านั้น

เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรไม่อาจยืนยัน แต่ได้ยินได้ฟังเรื่องทำนองนี้มาหลายสิบรอบแล้ว นับแต่วันแรกที่ผู้เขียนเดินทางมาถึงเมืองลำพูนเมื่อ 15 ปีก่อน

ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า “ซินยอร์โรแบร์ตี” ข้าหลวงโยธาชาวตะวันตกจากราชสำนักสยาม เอาใจช่วยลุ้นฝ่ายไหน

ตอนต่อไป คงหนีไม่พ้นเรื่องราว โศกนาฏกรรมของต้นขี้เหล็กและยางนา ที่นับวันรังแต่จะเหลือน้อยลง ๆ เรื่อยๆ  นอกจากถูกห้ำหั่นด้วยน้ำมือมนุษย์แล้ว ยังได้รับผลกระเทือนอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดอีกด้วย