ภารกิจคืนชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 4:
รู้จัก 5 ภัยคุกคามต้นยางนา และการรับมือของหมอต้นไม้

ไม่เพียงให้ร่มเงาและสร้างภูมิทัศน์อันร่มรื่นงามตา คุณประโยชน์ที่สำคัญของต้นไม้ใหญ่ในเมืองคือการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ รวมไปถึงกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กให้กับทุกชีวิต แต่นั่นล่ะ แม้จะเต็มไปด้วยประโยชน์ หากหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้นยางนาเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามมากกว่าที่เราคาดคิด ภัยคุกคามที่บ่อยครั้งทำให้ต้นยางนาต้องตาย และหักโค่นลงมากระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้สัญจรบนถนน

เช่นนั้นแล้ว การอนุรักษ์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ต้นยางนา ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของชีวิตชาวเชียงใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธเลยล่ะ ว่าแต่แล้วอะไรคือภัยคุกคามต้นยางนา วันนี้เราจึงลงพื้นที่พร้อมกับหมอต้นไม้สำรวจกัน

1) คอนกรีตทับราก
ลองนึกของคนคนหนึ่งที่กำลังเป็นโรคเหงือกหรือโรคฟันจนทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ เมื่อเคี้ยวไม่ได้ ก็แปลว่ากินข้าวไม่ได้ สารอาหารก็ไม่ตกถึงท้อง คนเราไม่กินข้าวหลายๆ วันก็อาจถึงแก่ชีวิต ต้นไม้ก็เหมือนกัน ต้นไม้อยู่ได้เพราะน้ำและแร่ธาตุที่รับผ่านราก แต่อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีคอนกรีตจากการทำถนนหรือทางเท้ามาปิดหน้าดิน ต่อให้เทศบาลขับรถมารดน้ำต้นไม้ทุกวันอย่างไร แต่คอนกรีตที่ปิดปากทางอยู่ ก็เหมือนมีอะไรมาปิดปากไม่ให้คนกินข้าวนั่นล่ะครับ

นอกจากนี้ด้วยธรรมชาติของต้นไม้ที่เมื่อเวลาผ่านไป รากก็จะชอนไชเข้าไปในดินเรื่อยๆ แต่เมื่อมีคอนกรีตมาปิดทับการชอนไช ต้นไม้บางต้นก็อาจหยุดการเจริญเติบโต ขณะที่บางต้นที่มีแรงฮึดสู้ก็อาจจะชอนไชต่อไปใต้ผิวถนน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ถนนหรือบาทวิถีหลายแห่งปูดโปนขึ้นมา ทางเท้าไม่เท่าไหร่ แต่พอเป็นถนนก็ยุ่งไปกันใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อรถราที่สัญจรไปมาได้ง่ายๆ

นี่คือสาเหตุที่สำคัญที่สุด ซึ่งหาได้เกิดขึ้นเฉพาะต้นยางนาบนถนนเชียงใหม่-ลำพูน แต่เกิดขึ้นกับต้นไม้ใหญ่ในเขตเมืองทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันหมอต้นไม้และกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา (อสย.) ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาไปหลายต้นด้วยกันแล้ว โดยการขุดคอนกรีตเพื่อเปิดผิวดิน เปลี่ยนดิน เติมแร่ธาตุและปุ๋ยเข้าไป ก่อนจะกลบด้วยด้วยบล็อคที่ซึมน้ำได้เร็ว หรือปลูกหญ้าบริเวณผิวดินเพื่อให้รากสามารถเข้าถึงน้ำและสารอาหารอย่างพอเพียง

2) กาฝาก
แม้กาฝากที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่มบางต้นจะดูดีและเสริมความงามของต้นยางนา แต่กาฝากยังไงก็เป็นกาฝาก มันเป็นวัชพืชที่มาแย่งสารอาหารและเป็นอันตรายต่อต้นไม้จนถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้กาฝากที่ปรากฏบนต้นยางนา มีทั้งกาฝากแบบไม้พุ่มมีดอกสีส้มแบบที่คุ้นเคย รวมไปถึงกาฝากอย่างต้นโพธิ์และไทรที่อาจเกิดจากมีนกมาถ่ายเมล็ดต้นไม้เหล่านี้ไว้บนต้นยางนา จนสุดท้ายกลายเป็นต้นไม้ที่เกาะเกี่ยวลำต้นยางนา แย่งพื้นที่หาอาหาร บดบังแสงแดด รวมไปถึงรากที่ชอนไชอย่างไม่จบสิ้น โดยทางแก้ก็คือการตัดกาฝากออกจากต้นยางนา หรือลำพังแค่ตัดท่อลำเลียงอาหารของกาฝากให้ออกจากกัน ไม่กี่วันกาฝากก็จะตายลง ทั้งนี้ด้วยความที่กาฝากหลายต้นก็มักอยู่สูงเกือบถึงยอด ทีมหมอต้นไม้จึงจำเป็นต้องใช้รถเครนในการจัดการภารกิจนี้ หากก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเทศบาลในพื้นที่ในการอำนวยเครื่องมืออยู่ตลอด

3) ปลวกและแมลง
ต้นไม้ทุกต้นย่อมมีศัตรูคู่แค้น ต้นยางนาเองก็มีแมลงหลายชนิด อาทิ หนอนผีเสื้อ แมลงค่อมทอง ที่มักเข้าไปวางไข่หรือทำรังบนต้นไม้และกัดกินลำต้น รวมไปถึงปลวกที่ไม่เพียงกัดกินลำต้นจนมีกรณีต้นยางนาเคยหักโค่นมาแล้ว หากจอมปลวกที่เป็นรังของพวกมันยังมีส่วนในการเบียดบังระบบรากของต้นยางนาไม่แพ้การเทคอนกรีตถนนทับอีกด้วย วิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือการใช้ยากำจัด หรือการปรับโครงสร้างดินด้วยการเติมปุ๋ยที่ให้ฤทธิ์ต้านศัตรูพืชเหล่านี้ก็ได้

4) เศษแก้วและขยะ
ความมักง่ายของผู้คนบนท้องถนนโดยเฉพาะการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่เพียงสร้างทัศนะอุจาด หากเมื่อถุงพลาสติก เศษแก้ว หรือถุงขนม รวมไปถึงสายไฟฟ้าหรือสายเคเบิ้ลเก่าที่กองสุมกันตามโคนต้นไม้ เหล่านี้ก็สร้างปัญหาให้ระบบรากไม่แพ้กัน วิธีการง่ายๆ คือการขุดดินรอบโคน เพื่อคัดแยกขยะเหล่านี้ออกมา (ซึ่งพบตามโคนต้นยางนาหลายต้นอย่างไม่น่าเชื่อ!) ก่อนจะทำการปรับหน้าดินด้วยปุ๋ยและแร่ธาตุที่เหมาะสมกับสภาพของต้นยางต้นนั้นๆ

5) ทัศนคติ
 ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นยางนาหาได้มีแต่ประโยชน์เท่านั้น แต่โทษจากกิ่งไม้ที่ตกลงมา หรือการเบียดบังทางสัญจรบนท้องถนนบางแห่ง ก็เป็นสาเหตุให้เกิดทัศนคติในแง่ลบแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน หรือชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน สายนี้ได้ ซึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้อีกเช่นกันว่าต้นยางนาที่ตายลงหลายต้นเป็นเพราะมี ‘มือดี’ แอบมาฟันลำต้น หรือนำสารเคมีมาเทลงรากเพื่อหวังให้ต้นไม้ตายลง ก่อนที่ทางราชการจะมาถอนต้นไม้ที่ตายลงออกจากพื้นที่ไปในที่สุด

แม้นี่จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ก็กลับสร้างปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่มากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หากการกระทำให้ต้นไม้เสื่อมสภาพลงไม่อาจทำได้ในระยะเวลาอันสั้น นั่นหมายถึงหากคุณกลัวว่ากิ่งของต้นยางนา หรือลำต้นจะหักโค่นลงทับหลังคาบ้านคุณเข้าสักวัน การไปเร่งให้ต้นไม้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่กิ่งหรือลำต้นจะหักโค่นลงมามากกว่าเดิม และกงกรรมกงเกวียนนี้ก็หาใช่จะหมดไปในระยะเวลาอันสั้นด้วยเช่นกัน

เช่นนั้นแล้วทางออกที่ยั่งยืนมากที่สุดคือการคอยตรวจตราดูแลสภาพการเจริญเติบโตของต้นยางนานั้นๆ รีบตัดกิ่งให้เป็นระเบียบก่อนที่กิ่งจะสร้างปัญหาในวันที่มีลมพายุแรง ขณะเดียวกันการบำรุงรักษาต้นยางนาให้เติบใหญ่สมบูรณ์ไม่เพียงเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้ต้นไม้คุกคามสวัสดิภาพของผู้คน หากยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภูมิทัศน์ร่มรื่น และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในพื้นที่ เนื่องจากต้นยางนาเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้

“หรือถ้ามองว่าต้นไม้ใหญ่ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนบนท้องถนนไม่สะดวก ก็อยากให้ลองมองย้อนกลับมาว่าต้นยางนาเหล่านี้ถูกปลูกก่อนจะมีการสร้างบ้านเรือนหรือชุมชนเสียอีก ต้นไม้อยู่มาก่อนที่เราจะไปปลูกบ้าน พวกเขาก็มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะอยู่ต่อ ทางที่ดีเราน่าจะเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ และร่วมกันหาวิธีอยู่กับต้นไม้เหล่านี้ให้ยั่งยืนที่สุด เพราะถ้าเราอยู่ร่วมกันอย่างรู้วิธีดูแล ต้นไม้จะให้ประโยชน์แก่พวกเรา มากกว่าโทษไม่รู้เท่าไหน” ลักขณา ศรีหงส์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม กล่าว