ภารกิจคืนชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 8:
สัมภาษณ์แชมป์นักปีนต้นไม้

วีรยุทธ เงินชุ่ม
หมอต้นไม้สาย adventure ผู้เป็นแชมป์นักปีนต้นไม้ระดับประเทศ

หลังจากแนะนำให้รู้จักกับทีมงานหมอต้นไม้และทีมอาสาสมัครพิทักษ์ต้นยางนาที่มีหน้าที่หลักในการฟื้นฟูระบบรากของต้นยางนาไปแล้ว คราวนี้จะขอพาไปรู้จักหมอต้นไม้สาย adventureที่ทำหน้าที่ในการปีนป่าย ห้อยโหน หรือโดยสารไปกับเครนยกขึ้นสู่ยอดไม้ เพื่อทำการตัดแต่งกิ่งของต้นยางนา ป้องกันไม่ให้กิ่งที่แห้งต้องตกลงมาสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและผู้คนด้านล่างในช่วงฤดูมรสุม

ขอแนะนำให้รู้จัก หนุ่ยวีรยุทธ เงินชุมรุกขกรมือหนึ่งในด้านการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ แถมพ่วงด้วยการเป็นนักกีฬาปีนต้นไม้ผู้เพิ่งได้แชมป์ประเทศไทยมาหมาดๆ รวมถึงเป็นตัวแทนคนแรกของประเทศไปแข่งปีนต้นไม้ในเวทีระดับนานาชาติมาแล้ว

Q: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหันมาประกอบอาชีพหมอต้นไม้
A: เป็นคนมีพื้นฐานเป็นคนชอบปีนต้นไม้อยู่แล้วครับ ผมเคยทำงานเป็นมัคคุเทศก์สายแอดเวนเจอร์ จำพวกนำนักท่องเที่ยวไปเดินป่า ปีนเขา โรยตัว รวมไปถึงขี่มอเตอร์ไซค์วิบาก ซึ่งอาชีพนี้ทำให้ผมมีพื้นฐานในการใช้อุปกรณ์จำพวกการปีนป่ายหรือโรยตัวอยู่แล้ว จนมาได้พบกับอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ที่เป็นหมอต้นไม้ ซึ่งเขามีองค์ความรู้ในการดูแลรักษาต้นไม้ แต่ไม่สามารถปีนต้นไม้ใหญ่ได้ ผมก็เลยไปเข้าคอร์สรุกขกรกับอาจารย์ เพราะผมสามารถขึ้นต้นไม้สูงได้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้จะสังเกตอาการหรือรักษาต้นไม้ได้อย่างไร จากนั้นเลยได้ทำงานด้วยกัน

Q: นอกจากการเป็นรุกขกร คุณยังเป็นนักกีฬาปีนต้นไม้ด้วย ช่วยเล่าเรื่องนี้ให้เราฟังหน่อยครับ
A: 
การแข่งขันปีนต้นไม้ ก็คล้ายกับกีฬาปีนเขาครับ เขาจะมีประเภทของการแข่งขันแบบต่างๆ ในประเทศไทยยังถือว่าใหม่มาก แต่ในต่างประเทศก็มีนักกีฬาจริงจังไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเหล่ารุกขกรด้วย ผมเข้าร่วมการแข่งขันเมื่อปี 2018 ในรายการ Thailand Tree Climbing Championship 2018 (TTCC 2018)ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การกู้ภัยในกรณีมีผู้บาดเจ็บบนต้นไม้, การปีนแบบมีผู้คอยผ่อนเชือกให้,การปีนด้วยการล็อกเชือกด้วยเท้า, การปีนเพื่อขึ้นไปทำงานบนต้นไม้ และการเซตเชือกปีนด้วยการโยนตุ้มทราย ซึ่งผมได้รับรางวัลชนะเลิศมา
หลังจากนั้นก็ได้เป็นตัวแทนคนไทยคนแรกที่ไปแข่งปีนต้นไม้ระดับนานาชาติที่นิวซีแลนด์ ผมแข่งปีนเร็ว (Men’s Belayed Speed Climb) ได้อันดับที่ 5จากผู้เข้าแข่งขัน 26 คน ซึ่งกีฬานี้ก็เหมือนกีฬาอื่นๆ ครับ คือต้องเก็บ Ranking ตามสนามนานาชาติไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราสามารถเข้าแข่งขันในระดับที่ใหญ่กว่า

Q: กลับมาที่อาชีพรุกขกร อยากทราบว่าทุกวันนี้ในบ้านเราถือว่าในบ้านเรามีคนให้ความสนใจมากขึ้นบ้างไหม
A:รุกขกรหรืออาชีพหมอต้นไม้นี่เป็นอาชีพค่อนข้างใหม่ แต่ก็มีคนสนใจมากขึ้นแล้ว รุกขกรยังแยกย่อยไปได้อีก เช่นรุกขกรในห้องวิจัย รุกขกรที่ดูแลระบบรากหรือต้นไม้ไม่สูงมาก และรุกขกรที่ต้องปีนขึ้นไปยังต้นไม้สูงๆ เพื่อตัดแต่งกิ่ง ซึ่งอย่างหลังเนี่ย บ้านเรายังถือว่าขาดแคลน ปัจจุบันคนที่สามารถใช้เครื่องมือขึ้นไปตัดแต่งกิ่งได้ในเชียงใหม่เนี่ยมีอยู่แค่ 3คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับปริมาณต้นไม้ใหญ่ที่มีในเมืองของเรา

Q: ว่าแต่การเป็นรุกขกรนี่สามารถเป็นอาชีพได้จริงไหมครับ
A:
เป็นได้ครับ เฉพาะในเชียงใหม่ เรามีภาคเอกชนเช่นพวกโรงแรม รีสอร์ท รวมไปถึงบ้านพักอาศัย ที่ต้องการมืออาชีพเข้าไปตัดแต่งหรือดูแลต้นไม้ใหญ่อยู่มาก เช่นเดียวกับหน่วยราชการที่หลายแห่งก็มีสำนักงานอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ นี่ยังไม่นับรวมกับต้นไม้ใหญ่ตามพื้นที่สาธารณะที่ต้องการผู้มีความรู้ขึ้นไปดูแล เช่นที่ผมมาทำงานวันนี้คือการตัดแต่งกิ่งของต้นยางนาที่แห้งแล้วออกไปก่อนเข้าฤดูมรสุมครับ เพราะถ้าไม่ตัดแต่แรก หากช่วงไหนมีลมแรงๆ หรือมีพายุมากิ่งเหล่านี้ก็อาจตกลงมาทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนได้

Q: ช่วยเล่าถึงการทำงานในวันนี้ให้ฟังทีครับ
A:
โปรเจกต์นี้คือการทำงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม เทศบาลฯ เป็นฝ่ายจัดหารถเครนและคนขับ รวมถึงการจัดการด้านการจราจร เพื่อพาทีมงานของผมขึ้นไปตัดแต่งกิ่งต้นยางนาอย่างสะดวก เขามีเวลาให้ 7 วัน ต้องตัดแต่งต้นยางนาทั้งหมด 22 ต้น ซึ่งก็พิจารณาจากต้นที่มีความเสี่ยงที่กิ่งของมันจะตกลงมามากที่สุด วิธีการทำงานก็คือหลังจากสำรวจว่าต้องจะจัดการต้นใดบ้าง ผมก็ลงหน้างานเพื่อหาจุดจอดรถเครน ดูว่าถ้ารถเครนส่งผมขึ้นไปมุมไหนจะตัดแต่งกิ่งได้มากที่สุด จากนั้นก็ออกแบบวิธีการทำงาน และเซ็ทระบบเชือก เช่น อาจจะยกเครนขึ้นไปผูกเชือกกับกิ่งใหญ่ๆ ก่อน เพื่อที่เวลาตัดเสร็จ กิ่งนั้นจะไม่ตกลงมากระแทกพื้น ซึ่งการตัดแต่งกิ่งแต่ละต้นก็ต้องมีการออกแบบกระบวนการใหม่หมดทุกต้น เพราะรูปแบบของกิ่งไม้ไม่เหมือนกัน

Q: อุปสรรคของการทำงานคืออะไรบ้าง
A:
ถ้าโปรเจกต์นี้หลักๆ คือเวลาและความกดดันครับ ความที่ต้นยางนาอยู่ริมถนนสายหลัก เทศบาลจึงต้องปิดถนนบางส่วนเพื่อให้รถเครนยกทีมงานรุกขกรขึ้นไป แต่เราไม่สามารถปิดถนนได้ถาวร จึงต้องปิดเป็นช่วงๆ พอผมขึ้นไปตัดแต่งกิ่งไม้ แล้วมองลงมาเห็นรถที่ต้องจอดรอเราอยู่ ก็มีความกดดันประมาณนึงว่าเราต้องรีบทำให้เสร็จ แต่ถ้ารีบเกินไปก็อาจเกิดอุบัติเหตุกับเราเองได้

อุปสรรคอีกอย่างคือผึ้งครับ ต้นไม้ใหญ่นี่ผึ้งชอบมาทำรังกัน บางทีเรามองไม่เห็นว่ามีรังอยู่ แค่เราสตาร์ทเครื่องเลื่อยไฟฟ้า ผึ้งก็มารุมต่อย ทีมงานผมเคยถูกผึ้งต่อยจนต้องหามเข้าโรงพยาบาลกันมาแล้ว แต่วิธีการนี้แก้ไขได้ด้วยการให้ทีมงานมารมควันเพื่อไล่ผึ้งออกไปก่อน จากนั้นรุกขกรค่อยขึ้นไปตัดกิ่งไม้ครับ

Q: การจะเป็นรุกขกรแบบคุณต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
A:
อย่างแรกต้องมีใจรักก่อนครับ ใจรักในการดูแลต้นไม้ใหญ่ รวมไปถึงใจรักในการปีนต้นไม้ สองคือต้องไม่กลัวที่สูง เพราะนี่คืองานที่ต้องทำบนที่สูงเท่านั้น สามคือจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคต่างๆ และการใช้อุปกรณ์ สี่คือความรู้ในการสังเกตอาการของต้นไม้ กิ่งไม้ไหนมีโพรง กิ่งไม้ไหนยังแข็งแรงอยู่ รวมไปถึงการคาดคะเนถึงการเจริญเติบโตของต้นไม้ด้วย และห้าคือความอดทนและสมาธิครับ เพราะสถานที่ทำงานเรามีความเสี่ยงอันตรายอยู่ประมาณหนึ่ง เราจะใจร้อนไม่ได้ ใจลอยก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่

Q: อะไรคือหัวใจสำคัญของอาชีพคุณ
A:
ความปลอดภัยครับ หลายคนชอบคิดว่าหมอต้นไม้คือการรักษาต้นไม้ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ทำไมเราต้องรักษาหรือต้องตัดแต่งกิ่งของต้นไม้ใหญ่ เพราะถ้าต้นไม้ไม่แข็งแรงหรือมีกิ่งแห้งกรอบ ก็มีแนวโน้มจะหักโค่นลงมาก่อให้เกิดอันตรายต่อบ้านเรือนและผู้คนได้ เราจึงต้องไปดูแลต้นไม้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ความปลอดภัยนี่ยังรวมถึงการออกแบบกระบวนการทำงานให้ทีมงานรุกขกรเองปลอดภัยด้วย คือคนทำงานเราต้องปลอดภัย และคนข้างล่างก็ต้องปลอดภัยไปพร้อมกันด้วยครับ