ภารกิจคืนชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 9:
วิสัยทัศน์ของเทศบาลนครเชียงใหม่กับการดูแลต้นยางนาให้ยืนยาว

 

การฟื้นฟูระบบรากก็เหมือนการปิดทองหลังพระ เราไม่สามารถเห็นผลมันชัด แต่ผมก็เชื่อว่านี่จะเป็นหนทางในการรักษาต้นไม้ในเมืองอย่างยั่งยืน”
พลโท ภาณุ โรจนวสุ, รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

97 ต้น คือจำนวนของต้นยางนาริมสองข้างถนนเชียงใหม่-ลำพูนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งหากเทียบกับต้นยางนาในเขตเทศบาลอื่นๆ อีก 4 เขต กล่าวได้ว่าด้วยความหนาแน่นของอาคารย่านพักอาศัยและการคมนาคมสัญจร ยางนาในเขตเทศบาลมีสภาพทรุดโทรมกว่าเขตเทศบาลอื่นๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธ

กระนั้นเทศบาลนครเชียงใหม่ก็หาได้นิ่งนอนใจ เพราะล่าสุดไม่เพียงทางเทศบาลฯ จะร่วมเป็นเจ้าภาพในการชักชวนหมอต้นไม้ขึ้นไปตัดแต่งกิ่งต้นยางนา เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งไม้แห้งตกลงมาทำอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงฤดูมรสุม พลโท ภาณุ โรจนวสุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ยังได้ร่วมหารือกับ อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ในการออกแบบกระบวนการดูแลต้นยางนาเหล่านี้ให้ครอบคลุมและยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่

Yangna.org มีโอกาสติดตามอาจารย์บรรจงเข้าร่วมพูดคุยกับรองนายกเทศมนตรีผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลผู้นี้ ซึ่งนอกจากเราจะได้สัมผัสถึงความตั้งใจดีของท่านในการร่วมอนุรักษ์ต้นยางนาเหล่านี้ ไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า นี่เป็นการร่วมหารือที่เปี่ยมด้วยความหวัง

โดยปกติทางเทศบาลนครเชียงใหม่มีทีมงานดูแลและตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราดูแลได้เฉพาะในเบื้องต้นเท่านั้น กระทั่งได้มาร่วมงานกับทีมรุกขกร จึงทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นมาก ซึ่งล่าสุดทางเทศบาลได้ตั้งงบประมาณราว 390,000 บาทเศษ เพื่อให้ทีมงานรุกขกรดูแลตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่ในเขตเทศบาลเมือง 40 ต้น มีต้นยางนาที่อยู่ในข่ายอันตราย 32 ต้น (จากการสำรวจของอาสาสมัครพิทักษ์ยางนาผู้สัมภาษณ์) ต้นสักอีก4 ต้น และต้นจามจุรีอีก 4 ต้น

โดยการทำงานครั้งนี้เทศบาลนครเชียงใหม่มีหน้าที่จัดหารถเครนแก่รุกขกร เพื่อให้การตัดแต่งต้นไม้ที่สูงใหญ่โดยเฉพาะต้นยางนา เป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งยังอำนวยความสะดวกในการจัดการด้านจราจร เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องและราบรื่น และไม่ทำให้กิ่งไม้ที่ถูกตัดแต่งตกลงมาสร้างอันตรายต่อผู้สัญจรบนท้องถนน ทั้งนี้ด้วยจำนวนต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างมาก เทศบาลจึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณและทีมรุกขกรในการดูแลต้นไม้พร้อมกันได้หมดในครั้งเดียว เราจึงวางแผนทยอยลงพื้นที่จัดการกันไปทีละจุด ต้นไหนมีกิ่งแห้ง เสี่ยงจะตกลงมาสร้างความเสียหายให้ผู้คน เราก็ต้องเร่งดำเนินการก่อน สำหรับต้นยางนา ปีนี้เราเริ่มที่ 32 ต้น คิดว่าถ้าทำให้ได้ปีละประมาณ 30 ต้น ใช้เวลา 3 ปี ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องกิ่งไม้ได้หมด

ผมเห็นด้วยกับข้อมูลของอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย ที่บอกว่าการดูแลแค่ลำต้นและกิ่งไม้ของต้นยางนาไม่เพียงพอ หากต้องดูแลไปถึงระบบโครงสร้างรากด้วย ซึ่งทางเทศบาลก็กำลังศึกษา และหาวิธีในการสร้างความร่วมมือกับทีมงานฟื้นฟูระบบรากฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดอยู่

ต้องยอมรับว่านี่เป็นโครงการที่ภาครัฐไม่เคยทำมาก่อน เพราะงานฟื้นฟูระบบราก ก็เหมือนกับการปิดทองหลังพระ เพราะไม่สามารถเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนงานก่อสร้าง หรือการตัดแต่งกิ่งที่มีหลักฐานว่าก่อนทำเป็นแบบหนึ่ง ส่วนหลังการทำงานก็มีผลลัพธ์ออกมา กระนั้นอาจารย์บรรจงก็ได้ให้ความมั่นใจว่าทางคณะทำงานมีระบบการวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังการฟื้นฟูระบบรากของต้นยางนาโดยหลักทางวิชาการ ทางเทศบาลก็มีความวางใจและพร้อมจะประสานความร่วมมือด้านงบประมาณและการอำนวยความสะดวกในอนาคต โดยในระยะนำร่อง เทศบาลฯ จะเริ่มจัดสรรงบประมาณสำหรับต้นยางนาในเขต 10 ต้นก่อน และปีต่อๆ ไป เราค่อยหาแนวทางร่วมกันในการจัดสรรงบประมาณสำหรับดูแลระบบรากให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ดีในระยะยาว ผมมองว่าหนทางที่ยั่งยืนในการดูแลต้นยางนา ควรต้องแก้ไขกันที่การใช้ถนน อาจจะต้องกำหนดให้ถนนสายต้นยางนานี้รองรับได้เฉพาะรถจักรยานหรือรถขนาดเล็ก มีการห้ามรถบรรทุกวิ่งเด็ดขาด พร้อมไปกับการหาถนนสายทดแทนสำหรับการคมนาคมหนัก ซึ่งก็ต้องประสานไปกับทางจังหวัดที่มีอำนาจในการออกแบบมาตรการมารองรับ

ซึ่งหากเป็นไปได้จริง ก็จะเป็นผลดีมากเลยนะ เพราะนอกจากเราจะแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองได้แล้ว เรายังได้ถนนที่มีศักยภาพทั้งในเชิงการเป็นพื้นที่ของชุมชน ถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถนนสายประวัติศาสตร์ และเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นใหม่ของเมืองเชียงใหม่ มีแต่ได้กับได้ทั้งนั้น