ภารกิจคืนชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 3:
เมื่อหมอต้นไม้ลงพื้นที่

แม้นี่จะเป็นช่วงเวลาที่หมอกควันปกคลุมทั่วเมืองเชียงใหม่อย่างหนัก หากในวันที่มลภาวะเบาบางพอที่จะสวมหน้ากากกันฝุ่นออกมากลางแจ้งได้ ทีมหมอต้นไม้และอาสาสมัครพิทักษ์ยางนาก็จะพร้อมใจกันลงพื้นที่เพื่อฟื้นฟูต้นยางนาริมถนนเชียงใหม่-ลำพูนโดยพร้อมเพรียง

หลังจากบทความที่แล้วเราได้พูดถึงการลงพื้นที่ของเหล่าอาสาสมัครพิทักษ์ยางนาเพื่อตรวจสุขภาพและลงทะเบียนสถานะของต้นยางนาทั้งหมด 949 ต้น คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เหล่าหมอต้นไม้และอาสาสมัครฯ บางส่วน ร่วมกันฟื้นฟูต้นยางนากัน โดยกำหนดต้นไม้ที่ต้องฟื้นฟูจากต้นที่มีความเสี่ยงมากที่สุด (มีการกำหนดโดยติดหมุดสีที่ป้ายบอกเลขที่ของต้นไม้ เช่น สีแดงสำหรับต้นที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน สีส้มคือต้นที่กำลังป่วย และสีเขียวคือต้นที่มีสุขภาพดี) ซึ่งทีมงานหมอต้นไม้เริ่มต้นฟื้นฟูต้นยางนาหมายเลข 1 บริเวณเขตแดนเชียงใหม่-ลำพูน (นี่เป็นต้นยางนาต้นแรกที่ได้รับการปลูกในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย) เป็นเสมือนต้นปฐมฤกษ์ของโครงการ

ว่าแต่ทีมงานฯ เขามีการฟื้นฟูหรือรักษาต้นยางนากันอย่างไร วันนี้เราเลยตามเขาไปลงพื้นที่กัน

“ต้นไม้ใหญ่จะตายได้มีอยู่ไม่กี่สาเหตุ สำหรับต้นที่ปลูกในเขตเมืองหรือริมถนน สาเหตุหลักๆ ก็เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากการเทคอนกรีตปูถนนไปปิดทับรากต้นไม้เหล่านั้น สิ่งนี้จะไม่เห็นผลทันทีหรอก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก คอนกรีตเหล่านี้ไม่เพียงขวางการเจริญเติบโต หากยังปิดกั้นไม่ให้รากเข้าถึงน้ำ นานเข้าต้นไม้ก็จะยืนต้นตายลง” อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย กล่าว

ด้วยเหตุนี้ภารกิจหลักของการฟื้นฟูต้นยางนาคือความพยายามเปิดพื้นที่คอนกรีตริมถนนที่ปิดทับระบบรากของต้นไม้ กล่าวคือการเปิดหน้าดินรอบโคนต้น ก่อนมีการปรับโครงสร้างดินขึ้นใหม่ หากต้นไหนอยู่ในสภาพอ่อนแอ ทางหมอต้นไม้ก็จะนำดินที่ได้ไปเข้าห้องแล็บในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผสมดินที่มีสัดส่วนของแร่ธาตุที่เหมาะสมกับยางนาต้นนั้นๆ มาถมใหม่ หรือหากต้นไหนที่สภาพยังไม่น่ากังวล ทางหมอต้นไม้ก็เพียงปรับสภาพรอบโคนต้น ด้วยการรื้อคอนกรีตที่ถมทับ และปูพื้นใหม่ด้วยดินและต้นหญ้าด้านบน เพื่อให้ต้นไม้หายใจได้สะดวกขึ้น

และถึงแม้ต้นยางนาจะดูสูงใหญ่แข็งแรง กระนั้นรากของมันที่ฝังอยู่ใต้ดินก็เปราะบางกว่าที่คิด ด้วยเหตุนี้ทางทีมงานหมอต้นไม้จึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะในการปรับโครงสร้างดิน เช่น เสียมลม (Air Spade) ที่ใช้แรงดันอากาศขนาดสูงแทนเสียมเพื่อใช้พรวนหรือขุดดิน (รวมไปถึงการเจาะและตัดหน้าดิน) โดยไม่ทำให้รากกิ่งหรือรากแขนงของต้นไม้เสียหาย ก่อนจะมีการเติมดินที่ผสมแร่ธาตุเข้าไป หรือในระหว่างที่รอการปรับสภาพพื้นผิวดิน ทีมงานก็นำเข็มฉีดยาและสายน้ำเกลือให้น้ำและแร่ธาตุเข้าไปใต้ผิวดินโดยตรง ประหนึ่งให้ยาคนไข้ทางสายน้ำเกลือ เป็นต้น

แม้จะดูเหมือนงานที่ไม่ยากเย็นอะไร แค่มีแรงงานลงพื้นที่ ขุดเปิดผิวหน้าดิน ใช้เสียมลมแซะดินออก และเปลี่ยนดินเพื่อรับน้ำได้ชุ่ม ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการดูแลต้นยางนาทุกต้นจะเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด เพราะแม้ต้นยางนาอายุร้อยกว่าปีเหล่านี้จะเรียงรายอยู่บนถนนสายเดียวกัน ก็ใช่ว่าจะประสบกับปัญหาหรือโรคภัยแบบเดียวกัน

ตอนหน้าเราจะพาไปสำรวจปัญหาของต้นยางนา นอกเหนือจากปัญหาคอนกรีตทับผิวดิน และมาดูกันว่าเหล่าหมอต้นไม้และอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา มีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะโรค (และเฉพาะหน้า) กันอย่างไร