สาเหตุของโรคพืช “สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต”

 สาเหตุของโรคพืช

  1. เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตได้แก่ การดูแลที่ไม่ถูกต้อง หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงทำให้ต้นพืชมีอาการผิดปกติไป เช่น
    อุณหภูมิสูงเกินไปหรือถูกแดดเผา เกิดอาการไหม้ลวกบริเวณด้านที่ถูกแสงแดดจัดเกินไป อาจเกิดบนใบหรือผลก็ได้ อุณหภูมิผิวดินที่สูงเกินไป อาจทำลายต้นกล้าอ่อน หรือเกิดอาการแผลแห้งตกสะเก็ดบริเวณโคนต้นแก่ได้

    แสงแดดไม่เพียงพอ ต้นพืชมักมีใบสีเขียวซีด ลำต้นยืดยาวผิดปกติ พืชไม่แข็งแรง ไม่ออกดอกผลตามปกติ

    ความชื้นในดินสูงเกินไป พืชไม่แข็งแรง ใบล่าง ๆ มักแสดงอาการเหลือง โดยเริ่มจากเส้นกลางใบก่อนรากเน่าตาย และในที่สุดพืชอาจแสดงอาการเหี่ยวและตายในที่สุด

    ความชื้นในอากาศต่ำ ปลายใบหรือทั้งใบไหม้ใบบิดเบี้ยว ช่อดอกแห้งร่วง ผลเหี่ยว ต้นพืชเหี่ยวแบบชั่วคราว หรือเหี่ยวแบบถาวรและตายในที่สุด

    ปริมาณออกซิเจนต่ำ รากไม่เจริญและเซลล์รากตาย ต้นพืชแคระแกร็น

    อากาศเป็นพิษ (มลภาวะ) เช่น มีหมอกควันฝุ่นละอองจากถนนปกคลุมใบ ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ใบเป็นจุดสีขาวซีด หรือใบเปลี่ยนสีอาจเกิดอาการใบไหม้ การเจริญและผลผลิตลดลง เช่น การเป็นพิษเนื่องจากโอโซน เป็นต้น

    การขาดธาตุอาหาร อาการเกิดขึ้นบนส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุอาหารที่พืชขาด เช่น

    – ขาดไนโตรเจน ใบพืชมีสีเขียวอ่อน ใบล่างเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน ต้นผอม และเตี้ยแคระ การเจริญเติบโตของพืชลดลง

    – ขาดฟอสฟอรัส ใบพืชมีสีเขียวเข้ม ขอบใบสีม่วง ใบล่างเป็นสีบรอนซ์ มีจุดสีม่วงหรือน้ำตาล ยอดสั้น

    – ขาดโพแทสเซียม ส่วนยอดผอม หรือเกิดอาการตายจากปลายใบแก่มีสีซีด และไหม้ที่ปลายใบ

    – ขาดธาตุอาหารรองและอาหารเสริมอื่น ๆ เช่น ขาดธาตุเหล็ก สังกะสี และโบรอน อาจทำให้ต้นพืชมีอาการใบเหลืองซีด ต้นแคระแกร็น เป็นต้น

    แร่ธาตุในดินมากเกินไป ทำให้พืชเจริญผิดปกติไป เช่น ได้รับไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นอวบ เฝือใบ ไม่ออกดอก ไม่ติดผล หรือติดผลน้อย

    ดินเป็นกรดหรือด่างจัด ทำให้พืชไม่สามารถใช้ปุ๋ยได้ตามปกติ ดินกรดจะละลายเกลือแร่ออกมามาก จนเป็นพิษกับพืชโดยตรง หรือขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุชนิดอื่น ทำให้เกิดอาการขาดธาตุต่าง ๆ

    พิษจากสารเคมีกำจัดวัชพืช เกิดอาการต่าง ๆ ผันแปรไปตามชนิดของสารเคมี เช่น ทำให้ใบบิดเบี้ยว ใบด่าง ผิวใบย่น ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือน้ำตาล และใบแห้งตาย

    พิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หรือสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง พืชอาจเกิดอาการใบไหม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้สารที่มีกำมะถันและทองแดงเป็นองค์ประกอบกับพืชตระกูลแตง และพืชที่อวบน้ำในวันที่แดดจัด

    การปฏิบัติดูแลไม่ถูกต้อง เช่น การพรวนดิน การให้น้ำ ใส่ปุ๋ยไม่ถูกวิธี การปลูกพืชในที่ไม่เหมาะสม เช่น นำพืชที่ชอบน้ำไปปลูกในที่แห้งแล้ง นำพืชที่ชอบแล้งไปปลูกที่ชื้นแฉะ หรือนำต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัดปลูกในที่ร่ม ทำให้ไม่ออกดอก นำต้นไม้ใบที่ชอบอยู่ในที่ที่แสงแดดน้อยหรือร่มรำไรไปปลูกในที่แดดจัด

  2. เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น
    พืชชั้นสูง เช่น กาฝาก ที่ขึ้นบนกิ่งไม้จะแย่งดูดกินอาหารทำให้ไม่มีดอกผล และในที่สุดกิ่งแห้งตาย และฝอยทองที่ดูดกินอาหารจากพืช โดยเจริญขึ้นปกคลุมบนพืชที่เราปลูก ทำให้ต้นพืชแคระแกร็น

    สาหร่าย มักจะทำให้ใบพืชแสดงอาการเป็นแผลคล้ายโรคใบจุด มีลักษณะเป็นแผลสีเขียวถึงสีน้ำตาลฟูคล้ายกำมะหยี่ ถ้าเป็นมาก ๆ ทำให้ใบเหลืองร่วงหล่นก่อนกำหนด ส่วนมากพบบนต้นไม้ที่ปลูกในสภาพที่มีความชื้นสูง

     เชื้อรา เป็นพืชชั้นต่ำชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวแตกกิ่งก้านอยู่เป็นกลุ่ม มีขนาดแตกต่างกันมาก สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ เมื่อเจริญบนต้นพืช สามารถดูดซึมอาหารจากเซลล์พืชมาเลี้ยงตัวเองได้ จัดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกับพืชได้มากที่สุด

    เชื้อแบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แบคทีเรียสาเหตุโรคพืชมีรูปร่างเป็นท่อนสั้น ๆ สามารถทำให้พืชเป็นโรคใบจุด โรคใบไหม้ และโรคเหี่ยว

    ไวรัส เป็นอนุภาคขนาดเล็กมากที่ก่อให้เกิดโรคกับพืช ไม่สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา เพิ่มจำนวนอนุภาคได้ภายในเซลล์ของพืชที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตผิดปกติหรือมีอาการใบด่าง

    ไวรอยด์ เป็นขนาดที่เล็กกว่าไวรัส และมีองค์ประกอบบางส่วนต่างจากไวรัส

    ไฟโตพลาสมา เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่มีผนังเซลล์ ลักษณะรูปร่างต่าง ๆ กัน จากรูปร่างกลมจนถึงรูปร่างที่เป็นเส้นสาย มีขนาดอยู่ระหว่างเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

    ไส้เดือนฝอย เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวไม่เป็นข้อหรือปล้อง ขนาดเล็กมา ยาว 0.3-0.4 มิลลิเมตร รูปร่างผอมยาวหรือโป่งพองจนถึงกลม โดยทั่วไปไส้เดือนฝอยศัตรูพืชมีขนาดเล็ก เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ ต้องมองใต้กล้องสเตอริโอ หรือกล้องจุลทรรศน์ โดยทั่วไปมักทำให้เกิดโรคกับระบบรากของต้นพืช

    เรื่องโดย : ธนาวัน เพลินทรัพย์ เจ้าหน้าที่เทคนิค ทีมหมอต้นไม้