เยาวชนหมอต้นไม้… รักอย่างเข้าใจ

เรื่อง : แพรจารุ ทองเกลี้ยง ภาพ: เยาวชนหมอต้นไม้อาสา

ต้นยางนา ต้นไม้หมายเมืองของเมืองเชียงใหม่นะคะ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นชัยพฤกษ์  ที่แท้คือต้นยางนาต้นไม้ใหญ่  ต้นยางนาไม้ที่มีอายุยืนยาวกว่าสองร้อยปีอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง

เชียงใหม่มีถนนสายต้นไม้ใหญ่ สายพิเศษที่ใคร ๆ ก็รู้จักคือ ถนนสายต้นยางนา

วันนี้จะชวนไปเดินเล่นบนถนนสายต้นยางนากันค่ะ อย่าเพิ่งทำหน้าฉงนสงสัย ไปเดินเล่นได้จริง ๆ แต่ต้องระวังรถนิดหนึ่ง เคยมีผู้เสนอว่า อยากให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายคนเดิน ที่ไม่ต้องมีรถผ่านเข้ามา ส่วนรถที่ผ่านเข้าออกได้ก็เป็นรถของผู้อาศัยอยู่ในชุมชนเท่านั้น – เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า

แต่การชวนไปเดินครั้งนี้ ไม่ได้ไปเดินเล่นเฉย ๆ นะคะ ไปดูเด็ก ๆ ทำกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับต้นยางนากันด้วย กิจกรรมนี้ชื่อว่า…เยาวชนหมอต้นไม้ค่ะ

วันก่อนฉันเห็นประกาศว่า…รับสมัครเยาวชนหัวใจสีเขียว มุ่งมั่น พลังเกินร้อย  เข้าอบรมหมอต้นไม้ เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติ เยาวชนหมอต้นไม้อาสา  15-16 กันยายน 2561 เป็นเยาวชนในพื้นที่ เทศบาลนครเชียงใหม่ หนองหอย  หนองผึ้ง ยางเนิ้ง สารภี  และแขวงกาวิละ

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การฟื้นฟูระบบรากยางนา ถ.เชียงใหม่-ลำพูน ให้อยู่คู่กับชุมชนอย่างปลอดภัย สวยงาม และยั่งยืน” ดำเนินงานโดย เครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เอาละ…ไปดูกันว่าพวกเขาทำอะไรกันบ้าง  เด็ก ๆ กับการเป็นหมอต้นไม้

เราไปที่ถนนสายต้นยางนาใหญ่ที่ยาวเหยียด เมื่อเดินทางมาถึง เห็นพวกเขากำลังปีนป่าย ขึ้นต้นยางนา ด้วยบันไดที่พาดกับต้นยางใหญ่ ปลูกต้นเอื้องผึ้งกับต้นไม้ … ที่ปีนอยู่นั่นเป็นผู้หญิงแข็งแรงและกล้าหาญ

หมอต้นไม้ต้องมีจิตใจที่ระลึกถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ นี่เป็นหัวใจสำคัญของงาน และน้อง ๆ ก็ป้องกันตัวเองอย่างดีในการปีน อีกทั้งมีพี่ ๆ คอยเป็นพี่เลี้ยง และมีเพื่อน ๆ เป็นทีมคอยบอก

“กล้วยไม้ที่เอาขึ้นไปชื่ออะไร”

“เอื้องผึ้ง” เด็ก ๆ ที่เชียร์เพื่อนอยู่ใต้โคนต้นตอบพร้อม ๆ กัน คนหนึ่งอธิบายต่อว่า ดอกสีเหลือ จะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน

“ช่วงฤดูร้อน เราจะมาดูกันนะว่ามันจะออกดอกสวยแค่ไหน”

เด็ก ๆ ตอบตกลง เป็นสัญญากันอย่างมั่นเหมาะ

“น้อง  ๆ ทำอะไรกันบ้าง”

พลอย นักเรียน โรงเรียนสารภี พิทยาคม เป็นคนตอบว่า  “วันแรกเข้าฐานการอบรมการเรียนรู้เกี่ยวกับต้นยาง  วันนี้ลงมือปฎิบัติจริง เป็นโครงการหมอต้นไม้”

“แบบเข้าค่ายใช่ไหมค่ะ”

“ทำนองนั่นค่ะ ใช้เวลาสองวัน”

“กี่คน”

“สี่สิบกว่าค่ะ”

“เยอะทีเดียว เราจะมีหมอต้นไม้เยอะเลยหมอต้นไม้ต้องทำอะไรบ้าง”

“รับผิดชอบดูแลต้นยางนา เพราะต้นยางนาอยู่หน้าโรงเรียน”เธอตอบ

“รับผิดชอบอย่างไร” ถามต่อ

“ทำอย่างไรให้ต้นไม้ปลอดภัย เราก็มีหน้าที่สอดส่องดูแล แล้วแจ้งเทศบาล แจ้งพี่ ๆ เขียวสวยหอม หรือพี่ ๆ ที่มาอบรมมาจากแม่โจ้”

พี่ ๆ แม่โจ้ คือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ยืนอยู่ใต้ต้นไม้และค่อยบอกน้อง ๆ ให้ปฏิบัติการ

“เรื่องหมอต้นไม้เป็นวิชาเรียนด้วยหรือเปล่า”

หนุ่มคนหนึ่งตอบว่า “ไม่ใช่วิชาเรียนแต่เป็นกิจกรรมอาสา ตอนนี่เราจะพยายามถอนตะปูเดิมออกมาให้หมด เอาตาปูที่ไม่ขึ้นสนิมมาใช้  ตะปูเป็นสนิมทำให้ต้นไม้เกิดโรคได้”

“ตะปูมาจากไหน ป้ายโฆษณาหรือเปล่า มีเยอะไหมที่ตอกเอาไว้”

“ต้นหนึ่งสี่สิบถึงร้อยที่ถูกตอกติดไว้”

“เยอะ …เป็นตะปูขึ้นสนิมทั้งหมด”.

เมื่อถามว่า ยางจะล้มบ้างไหม จำได้ว่าเคยมีข่าวล้ม

เขาตอบว่า อยู่ที่สภาพอากาศด้วย ต้องดูแลเช็คสภาพกิ่ง ดูแลระบบรากด้วย

ในช่วงที่สรุปกิจกรรม เยาวชนที่หนองผึ้ง ได้บอกว่า พวกเขาได้รู้ลักษณะของต้นยางมากขึ้น  วันที่สองได้เห็นความเจ็บป่วย  เช่นเห็นมีตะปูตามต้นยาง พวกเขาคิดว่าน่าจะมีการจัดการประกวดต้นยางหน้าบ้านของแต่ละคนว่าใครดูแลต้นยางนาได้ดี

            เยาวชนยางเนิ้ง สิ่งที่พวกเขาได้ คือ รู้ท่าจากอดีต และสภาพปัจจุบันสภาพของต้นยาง และวิธีการรักษาต้นยาง เช่น มีคนดูแลเอาใส่ใจ ไม่มีตะปู ไม่มีกาฝาก และอยากเห็นคนมาปลูกต้นยางกันอีกครั้ง

            เยาวชนสารภี สรุปว่าได้รู้จัก ข้อดีข้อเสีย  และคิดว่าจะต้องทำการเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้รู้ หากพบเห็นปัญหาหรือคนที่จะมาทำร้าย แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเขียวสวยหอมหรือเทศบาล

ส่วนน้อง ๆ เทศบาลอื่น ๆ มีบทสรุปที่น่าสนใจว่า ต้นยางนามีความสำคัญยิ่ง เป็นไม้หมายเมือง ไม้หมายทาง แนวทางในการพัฒนานั้น ต้องสร้างแกนนำ รณรงค์ให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเช่นในโซเชียล

จำนวนต้น สีที่ติดอยู่ตามต้นไม้ รู้ถึงไม้เมือง ไม้หมายทาง แนวทางในการพัฒนา สร้างกลุ่มแกนนำ พี่ ๆ เข้ามาอบรมทุกเดือน และทำประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นโดยใช้ออนไลน์  โซเซียล เน็ตเวิร์ค

จบกิจกรรมหมอต้นไม้ ปลูกต้นเอื้องผึ้งกับต้นยางนา เด็ก ๆ อาจจะไม่ได้เป็นหมอต้นไม้ทุกคน แต่สิ่งหนึ่งคือพวกเขาได้รู้จักและเข้าใจต้นไม้ประจำถิ่นมากขึ้น และพวกเขาจะเป็นนักสื่อเรื่องต้นไม้ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีในวันนี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นมันสมองในส่วนที่ดีในการดูแลบ้านเมืองนี้อย่างเข้าใจ