ปริศนา “ต้นยางนา”
จาก “ไม้หมายเมือง”
สู่ “ถนนเชียงใหม่-ลำพูน”
(ตอนจบ)

เรื่องโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฟื้น “เก๊าไม้” เมืองล้านนา

                  นอกเหนือไปจาก “ต้นยางนา” กับ “ต้นขี้เหล็ก” ที่มีสถานะเป็น “ไม้หมายเมือง” ของจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในสองตอนแรก ดินแดนล้านนายังมี “ต้นไม้สำคัญ” ซึ่งเรียกเป็นภาษาเมืองเหนือว่า “เก๊าไม้” ที่น่าสนใจอีกหลายชนิด

แน่นอนว่าคงต้องเริ่มต้นด้วยต้นไม้สำคัญทางพุทธศาสนาที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ “ต้นโพธิ์ หรือชื่อเต็มคือพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้คนเมืองเหนือเรียกชื่อย่อแค่ “ศรี” ซึ่งปกติคำนี้คนภาคอื่นๆ ออกเสียงในลักษณะอักษรควบไม่แท้ แต่คนล้านนากลับอ่านว่า “สะหลี” ด้วยใช้ระบบอ่านเรียงพยางค์แยกเป็นสอง เมื่อแยกแล้วยังใช้วิธีการดึงเสียงสูงของตัว ส. มาเป็นอักษรนำ แถมไม่ลั่นลิ้น (ไม่กระดกตัว ร.เรือ) จาก “ศรี” จึงกลายเป็น “สะหลี”

อย่าไปสับสนกับ “สะลี” ในเพลงที่จรัล มโนเพ็ชร ร้องว่า “พ่อแม่ก็ปูสะลี อ้ายบ่าวตั๋วดีหายแซ็บหายสอย” สะลีคำนี้หมายถึงฟูกที่นอน

ไม้สะหลีเมืองเหนือที่เก่าแก่พบที่วัดหลวงและวัดร้างนับแห่งไม่ถ้วน แต่ที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน กับวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง เชียงใหม่ รวมถึงที่วัดมหาโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ซึ่งตำนานระบุว่าพระภิกษุชาวลังกาได้นำหน่อศรีมหาโพธิ์มาถวายแด่พระเจ้าติโลกราชราว พ.ศ. 2000 ในวาระครบรอบสหัสวรรษที่สองแห่งการประกาศพระพุทธศาสนา

เก๊าไม้โบราณสมัยล้านนาที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม้คะยอมหรือไม้พะยอมแห่งวัดสวนดอก เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่มาของคำว่า “กาดต้นพะยอม” แถวแยกถนนนิมมานเหมินท์นั่นเอง

ไม้พะยอมหรือคะยอม (คำนี้ก็แปลกเขียนตัว “คะ” แต่อ่านออกเสียง “ขะ”) นั้น มีการระบุชัดว่าพระญากือนา กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ราวปี พ.ศ. 1914 ได้อุทิศหรือกัลปนาราชอุทยานที่เป็นสวนดอกไม้พะยอมของพระองค์ถวายแด่พระมหาสุมนเถระ สังฆราชา เพื่อให้จัดสร้างพระอารามหลวงวัดบุปผาราม รองรับพระภิกษุกว่า 8,400 รูป ภายหลังจากมีการตั้งพระพุทธศาสนานิกายเชียงใหม่หรือที่เรียกว่านิกายสวนดอกขึ้นมาใหม่ แยกออกมาจากนิกายเดิมหริภุญไชย

กล่าวให้ง่ายก็คือ คำว่า “สวนดอก” ที่เรารู้จักกันนั้น เป็นคำย่อมาจาก “สวนดอกพะยอม” แต่คำถามที่ตามมาก็คือ เก๊าไม้คะยอม หรือดอกพะยอม ที่เคยเบ่งบานสะพรั่งเต็มพื้นที่ตั้งแต่วัดสวนดอก (บุปผาราม) ไปจนถึงบริเวณที่เป็นกาดต้นพะยอม และยาวไปถึงเชิงดอยสุเทพหน้า “หน้ามอ” และ “หลังมอ” นั้น ปัจจุบันหลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหนกันเล่า

ในเมื่ออุทยานสวนดอกคะยอมอายุกว่า 600 ปีที่สามารถรองรับจำนวนพระภิกษุมากถึง 8,400 รูปเมื่อครั้งกระโน้น แสดงว่าต้องเป็นอุทยานที่กว้างใหญ่ไพศาลเกินคณานับ

เมื่อปี 2537 เคยมีการสำรวจต้นพะยอมในเชียงใหม่ พบว่าหลงเหลืออยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ 34 ต้น สวนรุกขชาติ 71 ต้น ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 54 ต้น สำนักงานเกษตรภาคเหนือ 26 ต้น วัดอุโมงค์ 49 ต้น และบนถนนสุเทพ 6 ต้น เชื่อว่าในบรรดาต้นพะยอมเหล่านี้อาจมีบางต้นที่เป็นส่วนหนึ่งของ “อุทยานสวนดอกคะยอมของพระญากือนา” ด้วยเช่นกัน

แต่แล้วเมื่อปี 2538 ได้มีการตัดต้นพะยอมทิ้งจำนวนมาก เพื่อขยายความกว้างของถนนหลายสาย รองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมการกีฬาระดับนานาชาติ

“ต้นพะยอม 3 ต้นสุดท้ายเมื่อ 50 ปีก่อน ใกล้ทางเข้ากองบิน 41 ณ บัดนี้หายแซ็บหายสอยไปไหนกันหมดหือ? ” เสียงครวญจากผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อรำลึกความทรงจำก่อนเก่า

ปัจจุบันเห็นแต่เพียงต้นคะยอมอายุ 30-35 ปี อยู่เยื้องกับกาดต้นพะยอม ในบริเวณหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพียง 15 ต้นที่รณรงค์ปลูกขึ้นมาใหม่เพื่อ “ไถ่บาป”  ปี 2538 และขนาดอายุเพียงแค่สามสิบกว่าปี ความสูงก็ยังมากถึง 18 เมตรเข้าไปแล้ว ไม่อาจจะจินตนาการถึงสวนดอกคะยอมนับพันนับหมื่นต้นในสมัยพระญากือนาเมื่อราว 600 ปีก่อน ว่าหากยังคงเหลืออยู่จวบปััจจุบัน เราจักได้บรรยากาศความตระหง่านของเก๊าไม้ยุคล้านนามากเพียงไหน

อนุรักษ์แต่ต้นยางนา ขออย่าลืมต้นขี้เหล็ก

ย้อนกลับมาสู่ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน หรือถนนสายต้นยาง-ต้นขี้เหล็ก จาก “ไม้หมายเมือง” ตามแนวคิดคนล้านนาได้กลายมาเป็น “ไม้หมายทาง” ประดับสองข้างทางถนน Boulevard ตามแนวคิดของชาวตะวันตกไปเรียบร้อยแล้วนั้น

เมื่อราว 2-3 ทศวรรษก่อน ถนนสายนี้ได้ประสบกับวิกฤติปัญหาถึงขั้นชะตาขาด เมื่อความเจริญทางวัตถุหลามไหลเข้ามาสู่ชนบทอย่างไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว

โครงการบ้านจัดสรร ตึกแถว ทาวน์เฮาส์ ศูนย์การค้า ได้ลุกลามมาจับจองพื้นที่สองฝั่งถนนสายต้นยาง อ.สารภี  ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ นั่นคือการประหัตประหารต้นยางนาใหญ่จำนวนกว่าครึ่งของทั้งหมดทิ้งลง ในนามของโครงการขยายผิวถนน-ฟุตบาทเอื้อประโยชน์ด้านการจราจร และเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจพาณิชย์

จากต้นยางนากว่าสองพันต้น ปัจจุบันเหลือเพียง 900 กว่าต้นเท่านั้น ค่อยๆ ล้มตายหายสูญไปทีละต้น ทั้งโดยความจงใจรุกรานของภาครัฐ ไม่ว่าทางหลวงชนบท โยธาธิการและผังเมือง สำนักงานที่ดิน เทศบาล อบต.ต่างๆ ในนามของการ “พัฒนาความเจริญ”

โดนภาครัฐทะลวงไม่พอ ภาคราษฎรชาวบ้านยังช่วยกันถล่มซ้ำ ด้วยความเข้าใจผิดหวาดระแวงไปเองว่า ต้นยางสูงใหญ่พวกนี้มีอันตราย หากเจอพายุลมแรงกรรโชกอาจหักโค่นฟาดทับหลังคาบ้านได้ จึงเกิดกระบวนการ

“ลอบสังหาร” ต้นยางนา   ด้วยการแอบฉีดสารพิษประเภทดีดีที หรือยาฉีดที่ดีกรีรุนแรงกว่านั้น ทำลายเซลล์ยับยั้งการเจริญเติบโตของพันธ์ุไม้ บ้างก็เอาน้ำร้อนไปเทราดที่โคนไม้ทุกเมื่อเชื่อวัน กระทั่งต้นยางอ่อนแอปวกเปียกขึ้นเชื้อราก็เรียกให้ทางการมาดูว่าต้นไม้หมดอายุขัยแล้ว ช่วยเรียกรถเทศบาลมาตัดทิ้ง ก็ยิ่งเข้าทางภาคราชการไปกันใหญ่

นั่นคือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับต้นยางนาราว 2-3 ทศวรรษก่อน กระทั่งได้มีกลุ่มคนหัวก้าวหน้าทั้งในและนอกพื้นที่อดรนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ได้รวมตัวกันในนามของนักอนุรักษ์เก๊าไม้ล้านนา ลุกขึ้นมาประท้วงต่อการกระทำสามานย์ทั้งของภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และชาวบ้าน

ทศวรรษที่ผ่านมาได้เกิดโครงการอนุรักษ์ต้นยางนาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยข้อสรุปที่ว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” (ขอยืมวลีเด็ดของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชมาใช้) ความกลัวที่ว่าต้นยางนาจะโค่นล้มใส่หลังคาบ้านนั้นนักวิชาการช่วยกันอธิบายว่าเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์

เห็นต้นสูงใหญ่อย่างนี้ แต่ควรมีองค์ความรู้ข้อหนึ่งว่า ขนาดของต้นยางนาที่ยิ่งมีความสูงเสียดฟ้ามากเพียงใดนั้น รากของมันก็ยิ่งหยั่งลึกทิ่มแทงลงไปในพื้นดินมากเป็นเงาตามตัวในอัตราส่วนหนึ่งเท่าครึ่งคือ 1:1.5 เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากต้นยางสูงจากพื้นดิน 20 เมตร รากที่ชอนไชอยู่ใต้ดินทะลุไปถึงใต้บาดาลนั้นก็จะมีความลึกของรากโดยประมาณ 30 เมตร เพราะไม่เช่นนั้นแล้วต้นยางก็มิอาจทรงตัวให้สมดุลกับความสูงเก้งก้างของตัวเองได้เลย ซึ่งเป็นข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คิดเอาเองว่ารากของต้นยางคงลึกแค่ 2-3 เมตรกระมัง

เมื่อหายกลัวขึ้นมาบ้างว่าโอกาสที่ต้นยางจะล้มโค่นลงง่ายๆ นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ความเสื่อมก็ลดน้อยถอยลง กระบวนการเหลียวซ้ายแลขวาแอบต้มน้ำร้อนลวกโคนต้นยาง หรือแอบฉีดสารพิษลับๆ ล่อๆ ยามดึกก็ค่อยๆ หมดไป

ปัจจุบัน “สำนึกรักต้นยางนา” นำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการคิดและดำเนินกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สีเขียวในชุมชนของตนเองให้มากที่สุดอย่างสร้างสรรค์

ปราชญ์ชาวบ้านเสนอแนวคิดเรื่องพิธีสืบชาตาเก๊าไม้ใหญ่  พิธีกรรม “บวชป่า” ด้วยการนำผ้าสบงจีวรสีเหลืองไปพันต้นยางนา เป็นสัญลักษณ์ของการขอบิณฑบาตชีวิต ปลูกฝังความเชื่อเรื่อง “ขึด” คือผู้ทำลายต้นไม้ใหญ่เท่ากับทำลายเทวดาอารักษ์ของคนหมู่มาก คนผู้นั้นย่อมสร้างกรรมต่อสาธารณะ

หายห่วงต้นยางนาไปแล้วเปลาะหนึ่ง ก็หันมามองต้นขี้เหล็กที่สุดแสนจะอาภัพแห่งฝั่งเมืองลำพูนดูบ้าง นับแต่เรื่องเล่าขานของจุดเริ่มต้นปลูก ก็ยังถูกชาวเชียงใหม่แซวหยอกล้อเอาว่า ที่ได้พื้นที่น้อยนิดก็เพราะเจ้าเมืองมัวแต่เชื่องช้ามะงุมมะงาหราขึ้นช้างละเลียดปลูก (บางเวอร์ชั่นบอกว่า ค่อยๆ “เดิน” ด้วยซ้ำ)

ใครเริ่มต้นปลูกก็ไม่ปรากฏายชื่อ ผิดกับต้นยางป่าของเชียงใหม่คือเจ้าน้อยคำตื้อ

อีกทั้งยังมีปริศนาว่า “ทำไมต้องเป็นต้นขี้เหล็ก” เคยเป็นไม้หมายเมืองมาก่อนเก่าเหมือนยางนาของเชียงใหม่ด้วยหรือเปล่า ต้นขี้เหล็กมาได้อย่างไร เคยเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองลำพูนหน้าไหนหรือ ยุคพระนางจามเทวีสมัยหริภุญไชย หรือสมัยล้านนา ทั้งหมดนี้ยังไม่มีคำตอบ

เห็นกระบวนการอนุรักษ์ต้นยางนาที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในรูปแบบสัญญาประชาคมแล้วก็ชวนให้เศร้าใจที่เห็นแค่เงาของการอนุรักษ์ต้นขี้เหล็กเพียงเลือนราง โดยเทศบาลตำบลอุโมงค์เพียงองค์กรเดียว แต่ทว่าถนนสายต้นขี้เหล็กนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำบลอุโมงค์เพียงตำบลเดียวเท่านั้น ยังมีตำบลเหมืองง่า ตำบลประตูป่า จนถึงตำบลในเมือง ทั้งหมดอยู่ในอำเภอเมืองลำพูน

มีแต่สถิติตัวเลขที่บอกกันว่าต้นยางนานั้น เมื่อแรกสร้างเคยมีประมาณสองพันต้น ปัจจุบันหายไปมากกว่าครึ่งคือเหลือเพียง 900 กว่าต้นเท่านั้น

แล้วต้นขี้เหล็กเล่า เคยมีใครบันทึกสถิติจำนวนไว้บ้างหรือเปล่า ว่ายุคแรกสร้างนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ และปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงกี่ต้น