ภารกิจคืนชีวิตให้ปู่ยางนา ตอนที่ 2: หมอต้นไม้
นอกจากจะมีถนนสายยางนา ถนนในเมืองที่สองข้างทางเรียงรายไปด้วยต้นยางนาอายุร้อยกว่าปีเกือบพันต้นเป็นแห่งเดียวในประเทศ เชียงใหม่ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งยังเชื่อมโยงกับทิวต้นไม้บนถนนที่ไม่มีใครเหมือน… นั่นคือ ‘หมอต้นไม้‘ – มืออาชีพที่อยู่เบื้องหลังการรักษาพยาบาลเหล่าไม้ใหญ่ทั่วเมือง รวมถึงต้นยางอายุเกินศตวรรษเหล่านี้ ให้อยู่เป็นร่มเงาของคนเชียงใหม่ต่อไปอีกอย่างน้อยอีกศตวรรษ
เราได้คุยกับอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ได้ชื่อว่าเป็นหมอต้นไม้คนแรกๆ ของเชียงใหม่และประเทศไทย
ด้วยความรักสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าเมืองที่เจริญแล้วคือเมืองที่ผู้คนและสถาปัตยกรรมจะต้องอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ได้อย่างยั่งยืนเป็นทุนเดิม เมื่อราว 8 ปีก่อน อาจารย์บรรจงมีโอกาสได้รู้จักกับทีมนักวิชาการและเหล่าหมอต้นไม้ชาวญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่รักษาต้นสักเก่าแก่ของเมือง นั่นจุดประกายให้เขาคิดว่านี่คือมืออาชีพที่เมืองเชียงใหม่ ของเราจำเป็นต้องมี และเขาก็ริเริ่มขึ้นมา ผ่านการเผยแพร่ความรู้ และเปิดรับอาสาสมัครผู้อยากเห็นเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ ‘เขียว’ ขึ้นอย่างมีคุณภาพ
“ในเมื่อเราเห็นตรงกันว่าต้นไม้คือสิ่งมีชีวิต เราก็ควรคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สวัสดิภาพ’ หรือคุณภาพชีวิตของต้นไม้ไม่ใช่หรือครับ แต่ที่ผ่านมา เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้” อาจารย์บรรจงกล่าว ก่อนจะขยายความว่าอาชีพหมอต้นไม้ก็เหมือนกับหมอรักษาคนไข้ เพียงแต่สิ่งที่เขารักษาคือต้นไม้
การรักษาต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ในเมือง ไม่เพียงจะช่วยให้ต้นไม้ยังคงมีอายุยืนยาว ให้ร่มเงาและทัศนียภาพอันงดงาม แต่ยังมีส่วนในการเสริม ‘สวัสดิภาพ’ ของผู้คนในเมืองด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งอุบัติเหตุก็เกิดจากกิ่งไม้ของต้นไม้ใหญ่ หรือกระทั่งต้นไม้ที่ยืนต้นตาย หักโค่นตกลงมายังบ้านเรือนหรือตามท้องถนน สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน รวมถึงความปลอดภัยของผู้คน
“เราไม่ได้แค่รักษา แต่เราประเมินศักยภาพและความเสี่ยงของต้นไม้แต่ละต้น ตัดกิ่ง แต่งใบ รวมไปถึงหากต้นไม้ต้นไหนอยู่ในทำเลที่อาจสร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน เราก็จำเป็นต้องหาวิธีเคลื่อนย้ายไปปลูกใหม่ การดูแลต้นไม้จึงเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเมืองที่ต้นเหตุด้วย” อาจารย์บรรจง กล่าว
ส่วนคำถามที่ว่าสุขภาพต้นไม้ใหญ่ในเชียงใหม่มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหนในการรักษา? อาจารย์บรรจงตอบว่าจำเป็นมาก เพราะที่ผ่านมาการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในเชียงใหม่ ไม่มีการคำนึงถึงต้นไม้ที่มาก่อน นั่นทำให้หลายครั้งเราจะพบว่าการเทคอนกรีตลงถนนหรือบาทวิถี ไปปิดรากของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ไม่สามารถรับน้ำ อากาศ และแร่ธาตุเท่าที่ควร นั่นทำให้มีต้นไม้จำนวนไม่น้อยยืนต้นตายทั่วเมือง
“อาการของโรคจะไม่ปรากฏชัดทันที อาจต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าเราจะรู้ว่าต้นไม้ใหญ่บางต้นป่วยหนักแล้ว วิธีการดูแลของเราก็คือสร้างเครือข่ายเข้าไปสังเกตอาการ ดูตั้งแต่รากต้นไม้ คุณภาพดิน ลำต้น เปลือก บาดแผลตามลำต้น รวมไปถึงลักษณะของใบไม้”
“หลายคนชอบพูดว่าในเมื่อต้นไม้ป่วยหนัก ทำไมเราไม่ตัดมันทิ้งแล้วปลูกต้นใหม่ทดแทน ผมต้องบอกว่านี่เป็นเรื่องเข้าใจผิด กว่าต้นไม้จะโตมาได้ขนาดนั้น มันต้องอาศัยเวลา ดิน ฟ้า อากาศ แถมยังเชื่อมโยงกับความทรงจำของใครหลายคนในเมือง ซึ่งถ้าต้นไม้ไหนป่วย แล้วเราเที่ยวตัดทิ้งหมด เชียงใหม่ก็จะไม่เหลือต้นไม้เก่าแก่ที่เป็นเสน่ห์ของเมืองและเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของเมืองเหลืออยู่เลย”
ทั้งนี้เชียงใหม่เป็นเมืองแรกของประเทศที่มีการประกวดต้นไม้ใหญ่ ซึ่งจัดติดต่อกันมา 7 ปีแล้ว นี่คือเมืองที่ต้นไม้ใหญ่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับความทรงจำของผู้คน โดยความทรงจำเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการสร้างกระบวนการอนุรักษ์ สิ่งที่หมอต้นไม้ทำคือการต่อยอดกระบวนการ – สร้างแผนที่ต้นไม้ใหญ่ ลงทะเบียนต้นไม้เพื่อติดตามดูคุณภาพชีวิตของพวกมัน (ปัจจุบันมีการลงทะเบียนต้นไม้ใหญ่มากกว่า 500 ต้น พร้อมการใส่อิเล็กทรอนิกส์ชิป เพื่อการ monitor ต้นไม้ได้ตลอดเวลา) รวมถึงสร้างเครือข่ายในการดูแลต้นไม้เหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม
ควบคู่กับกิจกรรมเหล่านี้ อาจารย์บรรจงกำลังผลักดันหลักสูตร ‘หมอต้นไม้‘ ให้เข้าสู่ระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการ หวังให้องค์ความรู้เหล่านี้ได้รับการจัดการและต่อยอดทางวิชาการอย่างรอบด้าน – “นี่คืออาชีพที่บ้านเรากำลังขาดแคลน เรามีแต่คนสวน หรือหน่วยงานรัฐที่ดูแลต้นไม้ในเมืองก็มีแต่คนสวน แต่เรายังขาดมืออาชีพที่มีความรู้เรื่องต้นไม้อย่างลึกซึ้งและแก้ปัญหาต้นไม้อย่างถูกหลักและยั่งยืน” อาจารย์บรรจงกล่าว
ใช่แล้ว…นี่คืออาชีพที่ไม่เพียงรองรับหน่วยงานรัฐ แต่ยังครอบคลุมถึงรีสอร์ท สนามกอล์ฟ หรือสวนสาธารณะของทั้งภาครัฐและเอกชน ฯลฯ
ปัจจุบันเชียงใหม่ของเรามีเครือข่ายหมอต้นไม้ราว 40 ราย ซึ่งยังรวมถึงผู้หญิงด้วย (อาจารย์เสริมว่าหลายคนมองว่านี่คืออาชีพของผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งไม่จริงเลยนี่เป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องแข็งแรง ทนแดดฝนอะไร แค่มีองค์ความรู้ในการสังเกตอาการ รวมถึงวิธีการจัดการต้นไม้ จะเพศใด ขอแค่มี ‘หัวใจ’ ก็สามารถเป็นหมอต้นไม้ได้)
โดยล่าสุดทีมงานหมอต้นไม้ของอาจารย์บรรจงกำลังระดมแรงใน ‘โครงการรักษาฟื้นฟูระบบรากและสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ยางนาถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ให้อยู่คู่ชุมชนอย่างปลอดภัย สวยงาม และยั่งยืน’ ดูแลต้นยางนาทั้งหมด 995 ต้น บนถนนเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งต้นยางนามากกว่า 80% กำลังอยู่ในภาวะที่ต้องได้รับการเยียวยาโดยด่วน ซึ่งคณะหมอต้นไม้ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีกับชาวบ้านในพื้นที่ และบุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมเป็น ‘อาสาสมัครพิทักษ์ยางนา’ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อดูแลต้นยางนาเหล่านี้เท่าที่จะเป็นไปได้
ในบทความต่อไป เราจะติดตามเหล่าหมอต้นไม้และอาสาสมัครเหล่านี้ไปรักษาต้นยางนาของคนเชียงใหม่กัน