นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชนคนรักษ์ยางนา

ใครว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่กับจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นไม้ไปด้วยกันไม่ได้ ลองดูนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ที่ชาวเชียงใหม่ต่างสร้างสรรค์เพื่อมาร่วมดูแลต้นยางนาเหล่านี้กัน

C-SITE แอปพลิเคชั่น นวัตกรรมสร้างสรรค์สำหรับคนรักษ์ต้นยางนา

หลังจากรู้จักเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ต้นยางนาที่มาช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ทิวต้นยางนาริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน กันไปในตอนที่แล้ว ก็ถึงเวลาแนะนำเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การทำงานของเครือข่ายนี้ง่ายขึ้น นั่นคือแอปพลิเคชั่น C-SITE แอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการสำรวจและวิเคราะห์สุขภาพของต้นยางนาอย่างเป็นระบบ

C-SITE คือแอปพลิเคชั่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสาธารณะไทยพีบีเอส เพื่อเป็นผู้ช่วยด้านการสำรวจ ปักหมุด และจัดเก็บข้อมูลของต้นไม้ ก่อนนำมาวิเคราะห์สุขภาพและสถานะของต้นยางนาแต่ละต้น

สุรพงษ์ พรรณ์วงษ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมืองฯ เล่าคอนเซ็ปต์คร่าวๆ ของแอพลิเคชั่นให้ฟังว่า นี่คือเครื่องมือสำรวจแบบปักหมุด ทำงานร่วมกับ Google Map โดยอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมในการวิเคราะห์สภาพต้นไม้มาก่อนแล้ว จะใช้เครื่องนี้ปักพิกัดตำแหน่งของต้นยางนา ก่อนจะระบุรายละเอียดของแต่ละต้น เช่น หมายเลขต้น อาการป่วย และทำการประเมินสุขภาพของต้นไม้ผ่านแอปพลิเคชั่น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หากต้นไม้มีสภาพสมบูรณ์ หมุดในแอปฯ จะเป็นสีเขียว หากต้นไม้กำลังป่วย หมุดจะมีสีส้ม และหากต้นใดต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน หมุดจะเป็นสีแดง

“ทีนี้เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราก็สามารถนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ เช่น สมมติเราสำรวจ 50 ต้น ภาพมันออกมาสีเขียว 40 ต้น แสดงว่าบริเวณนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์ แล้วลองเข้าไปดูต่อว่าที่มันเขียวเพราะอะไร ไม่มีการบดอัดของถนนหรือคอนกรีตรึเปล่า ตรงกันข้ามหากหลังจากสำรวจแล้วพบว่าต้นยางนาส่วนมากป่วยเป็นสีส้มทั้งหมดเลยหรือค่อนไปทางแดง เราก็จะทราบว่าบริเวณนี้เทศบาลหรือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน” สุรพงษ์ กล่าว

โดยเบื้องต้นได้ทำการวางระยะเวลาการดูแลไว้ที่ 6 เดือน ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้น ก็จะมีการกลับมาปักหมุดกันใหม่อีกครั้ง เพื่อสังเกตพัฒนาการของต้นยางนาแต่ละต้น ทั้งนี้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการติดตามผลและดูแลต้นไม้ต้นอื่นๆ ทั่วเมืองได้อีกมาก นับเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ยิ่ง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่น https://cthink.csitereport.com/

เทคนิคสารภีสร้างสรรค์เครื่องแจ้งเตือนภัยพิบัติหนุนอาสาสมัครพิทักษ์ต้นยางนา

แม้จะเป็นต้นไม้คู่เมืองและเป็นสัญลักษณ์ของถนนเชียงใหม่-ลำพูนมาช้านาน หากก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพี่น้องชาวอำเภอสารภีหลายคนก็หวั่นเกรงจะเกิดอุบัติเหตุจากทิวต้นยางนาสูงใหญ่ที่อยู่ขนาบสองข้างทางถนนสายนี้ จนมีกระแสเรียกร้องให้ตัดโค่นต้นไม้ลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดพายุเมื่อใด เช่นเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กิ่งของต้นยางนาหักลงมาสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและผู้สัญจรบนท้องถนน และนี่เองจึงเป็นที่มาของอีกหนึ่งเทคโนโลยีสร้างสรรค์ที่วิทยาลัยเทคนิคสารภี หวังให้เป็นเครื่องมือในการรักษาสวัสดิภาพของชาวชุมชน และช่วยเปลี่ยนมุมมองของผู้คนในการอนุรักษ์ให้ต้นยางนาคู่ถนนยังคงอยู่ต่อไป

เทคโนโลยีดังกล่าวคือ ‘เครื่องแจ้งเตือนวาตภัยและอุทกภัยในชุมชน’ ออกแบบโดยหน่วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยเทคนิคสารภี โดยมีอาจารย์ศุภเกียรติ สุภสินธ์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการชักชวนนักเรียนจากแผนกช่างเชื่อมและช่างไฟฟ้า ร่วมค้นคว้าพัฒนากับเทศบาลหนองผึ้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.ภาคเหนือ) และภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้เวลาในการพัฒนากว่า 3 ปี

ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวจะมีหอบังคับการอยู่ที่เทศบาลตำบลหนองผึ้ง ซึ่งยังเป็นศูนย์กลางในการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ตัวเครื่องมีส่วนประกอบสำคัญคือ ตัววัดความเร็วลม วัดทิศทางลม วัดความชื้น วัดอุณหภูมิ ชุดควบคุม รวมถึงฟังก์ชั่นรองช่วยแจ้งเตือนอุทกภัย ซึ่งทันทีที่เครื่องประเมินว่าจะมีพายุรุนแรงในระดับก่อความอันตราย เครื่องจะส่งเสียงสัญญาณไปยังเทศบาลเพื่อให้ทางเทศบาลประกาศเตือนชาวบ้านว่าพายุกำลังพัดมาจากทิศไหน เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมรับมือ โดยเครื่องมือจะทำงานแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเก็บรวบรวมไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ศึกษาต่อได้ ผ่านเว็ปไซต์ https://netpie.io/ ของสวทช.

อาจารย์ศุภเกียรติกล่าวว่า สำหรับแผนการในระยะใกล้นี้คือติดตั้งนวัตกรรมทดลองใช้งานจริงยัง 5 จุด โดยเลือกปักหมุดพื้นที่เทศบาลหนองผึ้งเป็นชุมชนนำร่อง ซึ่งหากประสบผลสำเร็จแผนระยะยาวคือการขยายพื้นที่ออกไปยังชุมชนอื่นๆ ตลอดช่วงถนนสายต้นยาง กระทั่งมุ่งมั่นตั้งใจว่าอยากให้ทุกหมู่บ้านในประเทศได้ติดตั้งเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจได้รับจากภัยพิบัติต่างๆ อย่างทันท่วงที

“ผมหวังให้เครื่องมือนี้ช่วยเปลี่ยนมุมมองของผู้คนต่อต้นไม้ใหญ่ด้วย เพราะยังไงการที่ชุมชนเรามีต้นไม้สูงใหญ่ก็เป็นผลดีต่อทั้งสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ของเมืองมากกว่าอยู่แล้ว ถ้าเรารู้ว่าภัยพิบัติจะมาตอนไหน เราก็แค่เตรียมรับมือไว้ พายุมาแล้วก็ไป เราก็ปลอดภัย ไม่จำเป็นถึงกับต้องตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าอย่างมากครับ” อาจารย์ศุภเกียรติ กล่าว

จากไม้หมายเมืองสู่แลนด์มาร์คการท่องเที่ยว

“ในวันที่เราสำรวจจุดแข็งทางการท่องเที่ยวโดยสำรวจความคิดเห็นชาวบ้าน คนส่วนใหญ่มักตอบในแนวเดียวกันว่า วัฒนธรรมกับวิถีชีวิต แต่พอเราได้ลงพื้นที่ไปดูจริงๆ กลับพบว่า ‘ต้นยางนา’ ต่างหากที่เป็นจุดแข็งที่แท้จริง หากชาวบ้านกลับมองว่าเป็นภาระ แต่ถ้าภาระสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเขาได้ในเชิงการท่องเที่ยว เขาก็อาจจะเปลี่ยนความคิดได้”

หลังจากที่ สัชฌุเศรษฐ์ เรืองเดชสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการ “การพัฒนารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีศึกษา ตำบลยางเนิ้ง ตำบลหนองผึ้ง ตำบลสารภี จังหวัดเชียงใหม่” ได้พบว่าแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 ตำบลบนถนนสายต้นยางนั้นยังไม่มีความพร้อมในการสร้างเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วไปตามที่หลายฝ่ายคิด

ทำให้ทางออกของการพัฒนาการท่องเที่ยวบนถนนเส้นนี้ถูกเบนเข็มมาในแนวทางใหม่ โดยชูเอาต้นยางนา ไม้หมายเมืองในอดีตกาลให้กลายเป็นแลนด์มาร์คและจุดเช็คอินทางการท่องเที่ยวในวันนี้

“ขณะนี้ทางโครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังวางกันว่าจะสร้างแลนด์มาร์คทางการท่องเที่ยวโดยมองพื้นที่พอเหมาะใต้ร่มยางนาก่อน ซึ่งก็พบว่าแผนงานส่วนนี้สามารถอ้างอิงข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น C-SITE มาหาจุดที่มีความเหมาะสมและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดควบคู่กับงานฟื้นฟูระบบรากของอาจารย์บรรจงจึงทำให้เล็งเห็นโอกาสที่น่าสนใจจากพื้นที่บริเวณใกล้เคียงศาลเจ้าแดนเมือง หรือทำเลที่ตั้งต้นยางต้นที่ 1 เนื่องจากได้รับการฟื้นฟูและมีเรื่องราวที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวได้ อีกทั้งระหว่างทางยังมีวิถีชีวิตชุมชนให้ชื่นชม บ้านโบราณเก่าแก่ รวมถึงจุดให้นักท่องเที่ยวแวะพักได้ ดังนั้นโจทย์ข้อต่อไปของเราคือการทำให้เรื่องราวของต้นยางกลายเป็นที่รู้จัก โด่งดัง และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

นี่ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการและหนึ่งแรงร่วมแข็งขันที่กำลังพยายามผลักดันให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน พร้อมเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันงดงามเพื่อฟื้นคุณค่าของถนนสายต้นยางที่เรารักให้อยู่คู่เคียงเป็นมนต์เสน่ห์ของเชียงใหม่ต่อไป

อ้างอิง วารสารเอิ้นเน้อ